*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,017 ระหว่างวันที่ 11-14 ส.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** ปิดตำนานไปแล้วสำหรับ “พรรคก้าวไกล” ภายหลัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 สั่งยุบพรรค ในคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองฯ และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่เสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คน เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 25 มี.ค. 2564 และใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566
*** ภายหลังศาลมีคำสั่งยุบพรรค ก็ได้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กก.บห.ชุดที่มีการกระทำผิด ไม่สามารถไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรค มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดเป็นเวลา 10 ปี โดยกก.บก.ก้าวไกล ช่วงปี 2563-2566 พบที่เป็น ส.ส.อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน คือ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ขณะนั้น 2.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคขณะนั้น 3.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 4.นายสุเทพ อู่อ้น 5.นายอภิชาต ศิริสุนทร และ ส.ส.เขต 1 คน คือ 6.นายปดิพัทธ์ สันติ ภาดา ส.ส.พิษณุโลก ซึ่งถูกขับพ้นพรรค และปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม
ส่วนกรรมการบริหารพรรค ที่ไม่ได้ เป็น ส.ส.ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 7.นายณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 8.นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 9.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร 10. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และ 11.นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.พรรค สัดส่วนภาคเหนือ (ชุด ชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค)
*** ในส่วนของส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไม่มีการเลื่อนบัญชีขึ้นมาทดแทน เนื่องจากบัญชีหายไปจากการถูกยุบพรรค ทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคก้าวไกล จากที่มีเสียงในสภาปัจจุบัน รวม 148 คน จะเหลือ 143 คน ซึ่งต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน รวมถึงต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก แทน นายปดิพัทธ์
ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็น “สารตั้งต้น” เพิ่มนํ้าหนักต่อการดำเนินคดีจริยธรรมร้ายแรง กับ 44 ส.ส. ที่เข้าชื่อยื่นเสนอร่างกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. แต่ในจำนวน ส.ส. 44 คน ที่ยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวปัจจุบันเหลือที่เป็น ส.ส.อยู่ในสภา 30 คน โดยหากถูกป.ป.ช.ชี้มูลผิดและส่งเรื่องไปให้ “ศาลฎีกา” พิจารณาแล้ว จะมีโทษความผิดร้ายแรงถึง “เว้นวรรคการเมืองตลอดชีวิต”
*** ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติดังกล่าวออกมา ชัยธวัช ตุลาธน พร้อมด้วย สุเทพ อู่อ้น เบญจา แสงจันทร์ และ อภิชาติ ศิริสุนทร ก็เดินทางออกจากอาคารรัฐสภา พร้อมพร้อม “ชูกำปั้น” แสดงความเข้มแข็ง และมีสีหน้าเรียบเฉย พร้อมพูดว่า “แล้วผมจะกลับมาใหม่”
*** การยุบ “พรรคก้าวไกล” ครั้งนี้จะทำให้พรรคสีส้มได้กระแสความนิยมเพิ่มจากคะแนนสงสารหรือไม่ วลีที่ว่า “ตายสิบเกิดแสน” ของพรรคสีส้ม เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในอีกราว 3 ปีข้างหน้า จะเป็นการให้คำตอบ...
*** จากคดียุบพรรคก้าวไกล สัปดาห์หน้าวันพุธที่ 14 ส.ค. 2567 ถึงคิวชี้ชะตา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เพราะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติ พร้อมนัดฟังคำวินิจฉัยใน เวลา 15.00 น. ที่มาของคดีนี้ ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ขอให้ศาลวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่
จากกรณี เศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
*** คดีนี้ถ้า เศรษฐา ทวีสิน “รอด” จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ความตึงเครียดให้กับรัฐบาลได้ แต่ถ้า “ไม่รอด” หลุดจากตำหน่งนายกฯ จะส่งผลให้ “ครม.” ไปทั้งคณะ ต้องเลือกนายกฯ กันใหม่ในสภาฯ แรงกระเพื่อมทางการเมือง จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ก็คงไม่ถึงกับพลิกข้ามขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คงจะยังอยู่ในขั้ว 314 เสียง 11 พรรคเดิมต่อไป...มารอลุ้นชะตา เศรษฐา ทวีสิน กันว่าจะ “รอด-ไม่รอด”...