*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,027 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ย. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** ภายหลังโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ รัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่ 12-13 ก.ย. 2567 โดยนโยบาย “เรือธง” ยังคงเดินหน้าโครงการ “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ประชาชน 45 ล้านคน วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท เพื่อสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ล่าสุดมีความชัดเจน โดย “กลุ่มเปราะบาง” คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ กลุ่มคนพิการ รวม 14.5 ล้านคน จะได้รับเป็น “เงินสด” คนละ 1 หมื่นบาท ที่จะโอนเข้าบัญชี วันที่ 25 ก.ย.นี้ ซึ่งสามารถนำไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคได้อย่างหลากหลายไม่จำกัดร้านค้าและพื้นที่
*** ส่วนคนทั่วไปจะได้รับเงินเมื่อไรนั้น รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นตั้งเป้าจะแจก 2 รอบ งวดแรกคนละ 5,000 บาท ที่อาจจะจ่ายเป็น “เงินสด” หากระบบดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และงวดที่ 2 จะจ่ายเพิ่มอีกคนละ 5,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หากระบบเสร็จสมบูรณ์
*** นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ออกมาชี้แจงถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะดำเนินการว่า อาจมีความแตกต่างจากช่วงที่เคยหาเสียงไว้ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลและลงมือทำแล้ว จะมีเรื่องของระบบที่ต้องใช้เวลานาน และต้องรอ แต่เศรษฐกิจของประเทศรอไม่ได้ และประชาชนรอไม่ไหว เป้าหมายของในการทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ แล้วกระตุ้นไม่พอ ยังต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในแบบดิจิทัลด้วย แต่มันมาช้ากว่า
เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจต้องกระตุ้นก่อน แต่เราไม่ได้มีนโยบายเดียว ยังมีอีกหลาย ๆ อันที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อันนี้เป็นอันหลักเร่งด่วน เห็นผลทันที ดังนั้นจึงอยากรีบทำ ตอนแรก จะไม่ให้เป็นเงินสดเลย จะให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด แต่อย่างที่บอก เศรษฐกิจรอไม่ได้ เราจึงต้องแบ่งเฟส และดิจิทัลยังอยู่ แต่อาจเปลี่ยนเป็นว่า 5,000 บาทหรือไม่
*** ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่า หากมีการแบ่งจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจไม่ส่งผลให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลตั้งใจไว้ และอาจเป็นเพียงแค่ดีเปรสชั่น นายกฯ แพทองธาร ยืนยันว่า ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน แต่รูปแบบเปลี่ยนไป ทั้งมั่นใจว่าไม่กระทบกับเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ เพราะมีการแบ่งเฟสแล้ว และไม่ได้มีนโยบายเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น การแบ่งทีละเฟส และทำควบคู่นโยบายอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจอยู่ดี
*** ขณะที่ ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยการแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง กว่า 14 ล้านคนในช่วงเดือนก .ย.นี้ ว่า จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.5-4% และในภาพรวมคาดว่าจะช่วยกระตุ้น GDP ของทั้งปีให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% เป็น 2.7-2.8% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตราว 2.5%
*** “กลุ่มดังกล่าวเมื่อได้รับเงินดิจิทัล วอลเล็ตไป ก็จะทำการใช้จ่ายทันที และ เงินจะไหลไปในกลุ่มอาหาร การซื้อของใช้ต่าง ๆ ภายในพื้นที่ จึงเชื่อว่าอย่างน้อยเงินจะหมุน 2 รอบ ซึ่งจะทำให้ไตรมาส 4/67 GDP จะขยายตัวได้ 3.5-4% และถ้าหากรัฐบาลกระตุ้นการใช้จ่ายต่อเนื่องจะทำให้ปี 2568 จีดีพีขยายตัวได้ 3.5-4% และ หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 89-89.5% ต่อจีดีพี จากปีนี้ 90.4-90.8% ต่อจีดีพี” ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ
*** นอกจากโครงการ “แจกเงินดิจทัล วอลเล็ต” ที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลแล้ว ยังมีนโยบายที่ประชาชนคนเมืองกรุงตั้งตารอคอย นั่นคือ “ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย” โดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรมว.คมนาคม ประกาศจะผลักดันให้สำเร็จภายในเดือน ก.ย. 2568
*** ทั้งยังมีนโยบายใหม่ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่ได้แถลงเป็นนโยบาย แต่ได้เพิ่มเติมเข้ามาในระหว่างทางคือ “สถานบันเทิงครบวงจร” หรือ Entertainment Complex รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน และดึงเม็ดเงินการลงทุนเข้าประเทศ
ทั้งยังมีนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง และ ระยะยาว และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ...ตามเจตนารมณ์ที่ นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า “จะสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทยจากวันนี้ไปถึงอนาคต” ...มารอดูกันว่า “รัฐบาลแพทองธาร” จะสามารถอัดมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้น “เศรษฐกิจ” ของประเทศ ที่ ซบเซา หายใจรวยริน ให้กลับมาคึกคักขึ้นได้บ้างหรือไม่
*** ปิดท้ายกันที่...การแถลงข่าวเปิดตัว “นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคต เปิดทางสู่ความเป็นเลิศในการรักษาโรคลิ้นหัวใจ เอออร์ติกตีบ” วันพุธที่ 25 ก.ย. 2567 เวลา 12.00 - 14.30 น. ณ ห้องประชุม302 ชั้น 3 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำทีมโดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าหน่วยอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะ ร่วมด้วยศิลปิน-นักแสดง อาวุโส อาหนิง นิรุตติ์ ศิริจรรยา