ลุ้นเพิ่มมาตรการ“กระตุ้นเศรษฐกิจ”คลอดปลายปี

09 ต.ค. 2567 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2567 | 08:50 น.

ลุ้นเพิ่มมาตรการ“กระตุ้นเศรษฐกิจ”คลอดปลายปี : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,034

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,034 ระหว่างวันที่ 10-12 ต.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** หนักหนาสาหัสจริงๆ สำหรับ “น้ำท่วมภาคเหนือ” ในปี ทั้งที่จังหวัดเชียงราย และ เชียงใหม่ เฉพาะที่เชียงใหม่ บางก็บอกว่าหนักสุดในรอบ 50 ปี บ้างก็ว่า 100 ปี บ้างก็ว่าหนักสุดในประวัติศาสตร์ ใครที่ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ก็คงจะได้เห็นภาพน้ำเชี่ยวกราก ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ตลาด ร้านค้า รถราจมน้ำสร้างเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน พื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ หนักสุดเห็นจะเป็น พื้นที่ อ.เมือง สันป่าตอง หางดง สารภี โดยเฉพาะที่อ.สันป่าตอง พบผู้เสียชีวิต 1 ราย จากการจมน้ำ

*** ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมเชียงราย ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ นำไปสู่การเร่งฟื้นฟูแล้ว ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์รายรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัย และดินถล่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 9 ก.ย.- 6 ต.ค. 2567 รวมทั้งสิ้น 13 อำเภอ 64 ตำบล 581 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) โดยตลาดชุมชนเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ร้านค้า/สถานประกอบการ 92 แห่ง ราษฎรได้รับผลกระทบเบื้องต้น 56,587 ครัวเรือน เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 3 ราย

บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ (เสียหายทั้งหลัง) 112 หลัง พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 18,587 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 48,854 ตัว (ได้แก่ โค 1,110 ตัว กระบือ 176 ตัว สุกร 66 ตัว แพะ/แกะ 25 ตัว สัตว์ปีก 47,477 ตัว) สัตว์เลี้ยง 322 ตัว (ได้แก่ สุนัข 145 ตัว แมว 154 ตัว และอื่นๆ 23 ตัว) ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงเรียน 37 แห่ง ถนน 10 จุด คอสะพาน 5 จุด และรพ.สต. 1 แห่ง 

*** นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ออกมาระบุถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือของไทยว่า เห็นน้ำท่วมมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงอยากวางแผนระยะยาวให้จบ และเป็นสิ่งที่ยึดไว้ว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนให้ทำเรื่องนี้ต่อให้จบ เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศจริง ซึ่งจะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยใน ครม. เพื่อดูว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ให้ ครม.ช่วยกันคิดว่าจะวางแผนระยะยาวได้อย่างไร ถ้าจะใช้เวลาถึง 10 ปี ในการซ่อมและสร้าง ก็ต้องดำเนินการ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ หากเทียบกับงบประมาณแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็ถือว่ามากพอสมควร แต่เรื่องแผนระยะยาวต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้

*** ภายหลัง “รัฐบาลเพื่อไทย” ภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ “แจกเงินหมื่น” ให้กับกลุ่มเปราะบาง จำนวน 14.5 ล้านคน ระหว่างวันที่ 25-30 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ผลจากการทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ในเรื่องดังกล่าว ดูจะทำให้ “ความนิยม” ของประชาชนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย และตัวนายกฯ หญิง คนนี้ “เรตติ้ง” ดีขึ้น

เห็นได้จากผลการสำรวจของ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต  เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท สำรวจประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้ได้รับเงินแล้ว จำนวน 845 คน ระหว่างวันที่ 1-4 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่า สถานะทางการเงินของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.7 มีเงินไม่พอใช้ และมีหนี้, ร้อยละ 28.64 มีเงินพอใช้แต่ไม่มีเงินเก็บ, ร้อยละ 19.17 มีเงินไม่พอใช้แต่ไม่เป็นหนี้ ส่วนเมื่อถามว่า นำเงินที่ได้ไปใช้อะบ้าง ร้อยละ 47.0 นำไปใช้ซื้อของกินของใช้, ร้อยละ 23.35 ชำระหนี้ และ ร้อยละ 9.58 เก็บออม

*** ทั้งนี้มีประชาชน ร้อยละ 57.75 มองว่า นโยบายนี้ช่วยบรรเทาภาระทางการเงินได้มาก, ขณะที่ ร้อยละ 37.63 มองว่าช่วยได้พอสมควร และ ร้อยละ 4.62 มองว่าไม่ช่วยเลย ส่วนนโยบายนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้หรือไม่ ร้อยละ 53.61 ระบุ ช่วยได้พอสมควร, ร้อยละ 44.02 ระบุ ช่วยได้มาก และ ร้อยละ 2.37 ระบุ ไม่ช่วยเลย

อย่างไรก็ตาม ประชาชนร้อยละ 50.65 ค่อนข้างเชื่อมั่น นโยบายนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล, ร้อยละ 31.70 อยากให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนเพิ่ม ด้วยการ เพิ่มเงินเดือน ค่าจ้าง สร้างงาน สร้างอาชีพ และ มองว่า จากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ทำให้รู้สึกชื่นชอบพรรคเพื่อไทย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.70, พรรคประชาชน ร้อยละ 12.94 และ พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 9.73

*** ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2567 “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก็ได้เปิดผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567”สำรวจระหว่างวันที่ 16-23 ก.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค จำนวน 2,000 คน เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 31.35 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความเป็นผู้นำ และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

อันดับ 2 ร้อยละ 23.50 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 22.90 ระบุว่าเป็น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิด และทัศนคติที่ดี อันดับ 4 ร้อยละ 8.65 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร อันดับ 5 ร้อยละ 4.80 ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ มีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหาร รวมถึงมีจุดยืนในการต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 34.25 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 27.15 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 15.10 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ 

*** เมื่อวันก่อนนักข่าวพบกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ภายหลังการแสดงวิสัยทัศน์ในงานสัมมนาเวทีกรุงเทพธุรกิจ ฟอรั่ม ASEAN Economic Outlook 2025 ก็ถูกถามว่าหลังจากที่รัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางไปแล้วมีกระแสบวกกับรัฐบาลมากขึ้น และก่อนที่เริ่มโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเฟส 2 ก็มีเสียงเรียกร้องอยากให้มีโครงการ “คนละครึ่ง” จะเป็นไปได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ไม่กล้าพูดเลย จริงๆ แล้วเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีเยอะ มีในกระเป๋าเยอะมากเลย แต่ค่อยๆ เอาออกมา ซึ่งต้องดูช่วงสถานการณ์บ้านเมืองด้วย และเรื่องใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เราเรียงลำดับทำแน่นอน และจะมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงนโยบายให้ทราบได้อย่างดี จึงขอให้รอนิดนึงอย่าเพิ่งรีบ

*** แต่คนที่พูดชัดพอเห็นทิศทางว่า รัฐบาลจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรต่อไป ก็คือ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ที่ระบุว่าปลายปี 2567 นี้ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกแน่นอน แต่อาจออกมาในรูปแบบ “มาตรการทางภาษี” และ “กระตุ้นการใช้จ่าย” ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่โครงการ "คนละครึ่ง" แบบที่ผ่านมา

สำหรับมาตรการภาษี เช่น การซื้อของและให้ลดหย่นภาษีนั้น อยู่ในการพิจารณา ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ เพราะถ้าหากพูดไปก่อนกลัวว่าจะมีการชะลอใช้จ่ายช่วงเดือนธันวาคมได้ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีอาวุธในมือ และเตรียมออกช่วงปลายปีนี้...

*** ปิดท้าย "นายกฯอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” มีคิวหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำ 12 ประเทศ ในระหว่างการคณะร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit 2024 ที่ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่าง 8-11 ต.ค.นี้ ประเทศที่นายกฯ ไทย จะหารือทวีภาคีกับอีก 12 ประเทศ ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีติมอร์-เลสเต ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และที่รอยืนยันอีก 8 ประเทศ คือ จีน บรูไน มาเลเซีย กัมพูชา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ เวียดนาม