แจก“เงินหมื่น”เฟส 2 หางบ 255,000 ล้านบาท ปัญหาหนักอกรัฐบาล

22 ก.ย. 2567 | 00:00 น.

แจก“เงินหมื่น”เฟส 2 หางบ 255,000 ล้านบาท ปัญหาหนักอกรัฐบาล : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4029

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,029 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** “รัฐบาลแพทองธาร” ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างเป็นทางการนัดแรก เมื่อวันอังคารที่ 17 ก.ย. 2567 ก็ได้เริ่มเดินหน้า “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และตามที่เคยหาเสียงให้สัญญากับประชาชนไว้ โดยปรับเปลี่ยนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท จากการแจกเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต มาเป็น “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567” ด้วยการ “แจกเงินสด 10,000 บาท” ผ่าน ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.4 ล้านราย และ ผู้พิการ 2.15 ล้านราย รวมจำนวน 14.55 ล้านคน กำหนดแจกเงินผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ คนละ 10,000 บาท โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 145,552 ล้านบาท

*** และเนื่องจาก “ระบบการโอนเงิน” ที่มีขีดความสามารถในการจ่ายเงินลงไปให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิมีจำกัด เพียงวันละประมาณ 4 ล้านคน ทางกระทรวงการคลัง จึงต้องแบ่งการจ่ายเงินเป็นงวด ๆ รหว่างวันที่ 25-30 ก.ย. 2567 ดังนี้ วันที่ 25 ก.ย. 2567 โอนเงินให้ คนพิการ และ ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ที่มีเลขประจำตัวบัตรประชาชนหลักสุดท้าย เลข 0 จำนวน 3.28 ล้านคน, วันที่ 26 ก.ย. 2567 โอนเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ที่มีเลขประจำตัวบัตรประชาชนหลักสุดท้าย เลข 1-3 จำนวน 4.51 ล้านคน

วันที่ 27 ก.ย. 2567 โอนเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ที่มีเลขประจำตัวบัตรประชาชนหลักสุดท้าย เลข 4-7 จำนวน 4.51 ล้านคน และ วันที่ 30 ก.ย. 2567 โอนเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ที่มีเลขประจำตัวบัตรประชาชนหลักสุดท้าย เลข 8-9 จำนวน 2.26 ล้านคน ทั้งนี้หากใครตกหล่น หรือบัญชีพร้อมเพย์มีปัญหา รัฐบาลจะโอนซ้ำอีก 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ต.ค. 2567, ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พ.ย. 2567 และ ครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธ.ค. 2567

*** รัฐบาลประเมินว่าประโยชน์ของโครงการนี้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในปี 2567 โดยจ่ายเงินให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้ 0.35% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3% แต่ยังต้องจับตาผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมว่าจะส่งผลมากเพียงใด

*** ส่วนการดำเนินโครงการใน “เฟส 2” สำหรับกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งมีจำนวนประมาณ 36 ล้านคน นั้น ทางรัฐบาลยืนยันว่า “ต้องมี” เพราะมีผู้ลงทะเบียนเข้ามาแล้ว แต่จะตรวจสอบสิทธิ์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทั้ง เกณฑ์รายได้ เงินออม ประวัติการเข้าร่วมโครงการรัฐ และตรวจสอบรายชื่อที่ซ้ำซ้อนกับประชาชนในเฟสแรก

โดยในระยะถัดไปรัฐบาลจะตั้ง “คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ขึ้นมาหนึ่งชุด มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่มีอยู่ รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ ว่า จะจ่ายเงินอย่างไร จ่ายเมื่อไหร่ จ่ายด้วยวิธีไหน โดยการแจกเงินนั้นรวมทั้ง 2 กลุ่มจะใช้งบประมาณไม่เกิน 4 แสนล้านบาท 

*** มีคำยืนยันจาก เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ว่า โครงการเฟส 2 รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนต่อไป หลังจากได้โอนเงินกับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ เสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะแจ้งไทม์ไลน์ที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ธนาคารของรัฐมีความพร้อมในการรองรับการลงทะเบียน แต่ขอเลื่อนออกไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงานกับกลุ่มแรก ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

*** ปัญหาใหญ่ของโครงการแจกเงินหมื่น “เฟส 2” ก็คือ รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน? เพราะตั้งเป้าไว้ว่า ทั้งเฟส 1 และ เฟส 2 ใช้วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท  เมื่อ เฟส 1 ใช้ไปแล้วประมาณ 145,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า เฟส 2 ต้องหาเงินมาแจกอีก 255,000 ล้านบาท ถือเป็นเงิน “ก้อนมหึมา” เป็นปัญหา “จุกอก” ของรัฐบาลเลยทีเดียว ...แต่ถ้ารัฐบาลสามารถหาเงินมาแจกต่อได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีแน่นอน...  

                           แจก“เงินหมื่น”เฟส 2 หางบ 255,000 ล้านบาท ปัญหาหนักอกรัฐบาล

*** “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว” ว่าแล้ว “นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร” ก็สะบัดปากกาเซ็นแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกฯ มอบหมาย ประกอบด้วย 1.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษา 2.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา 3.นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา 4.นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา 5.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษา และ ให้รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายบริหารเป็นเลขานุการคณะที่ปรึกษา 

*** โดยคณะที่ปรึกษชุดนี้ มีหน้าที่และอำนาจ คือ 1. วิเคราะห์และศึกษาโอกาสในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเสนอแนะแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐบาล 2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฎิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม 3. ให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงแสดงความคิดเห็นส่งเอกสารให้ข้อมูลหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ และ 4. ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกฯ มอบหมาย

*** ไล่ดูประวัติทั้ง “5 อรหันต์” แล้ว ไม่ธรรมดาที่เดียว เริ่มจาก พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา เป็นทั้ง ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, อดีตประธานที่ปรึกษานายกฯ ด้านนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร,  เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญ รัฐบาลทักษิณ 1-2  นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track) หรือ  "ทักษิโณมิกส์"

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา เป็น กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, อดีตรองนายกฯ อดีต รมว.คลัง อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร,  อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน  

ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็น กรรมการ บริษัท ล็อกซเล่ย์, กรรมการ กบข., กรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ  บล.ภัทร, ประธานสภาพัฒน์

ธงทอง จันทรางศุ กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8, อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539, อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา, อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม, อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้พิพากษา, อดีตอดีตรองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม โฆษกประจำตัวให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ประธานกรรมการมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย  

*** มารอดูผลงาน “5 อรหันต์” ชุดนี้ที่เปรียบเสมือน “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ในอดีต ว่าจะเสนออะไรต่อ “นายกฯ แพทองธาร” ที่สร้างความฮือฮา และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้บ้าง...