ภูมิรัฐศาสตร์โลกกับผลกระทบประเทศไทย

25 ก.ย. 2567 | 23:00 น.

ภูมิรัฐศาสตร์โลกกับผลกระทบประเทศไทย : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,030 ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2567

*** สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมประจำปีวันก่อน มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต้องติดตาม ปีนี้เขากำหนดประเด็นวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ แน่นอนน่าสนใจเพราะภูมิรัฐศาสตร์มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปของเศรษฐกิจของวิถีชีวิตของเรา นอกเหนือจากนโยบายการเมืองที่กำหนดมาจากนักการมือง ที่มักอ้างเอาความต้องการประชาชนมาเป็นที่ตั้งบังหน้า เพื่อสนองผลประโยชน์ของตนเองตามมาข้างหลังเสียเป็นส่วนใหญ่

*** ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วิเคราะห์ “การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก : นัยต่อประเทศไทย” ไว้ให้ขบคิด กรณีสงครามการค้า เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น มีทรัพยากรมาก แรงงานมาก เป็นโรงงานของโลก จีนโตขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐที่นำเข้าสินค้าจีนมากขึ้น ขาดดุลเพิ่ม ได้ตั้งกำแพงกีดกันจีน เกิดสงครามการค้า จีนตอบโต้ด้วยเพิ่มบทบาททั้งในส่วนของการค้าและการผลิตโลก รวมถึงนโยบาย Belt and Road Initiatives

*** สงครามการค้าขยายไปสู่สงครามการเทคโนโลยี สหรัฐเจาะจงไปยังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่งผลให้สงครามการค้า ก้าวไปสู่สงครามเทคโนโลยี ขยายวงกว้างไปยังเทคโนโลยีในหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง หลายประเทศต้องปรับตัวรองรับ การย้ายฐานการผลิตและการเร่งสร้างฐานการผลิตใหม่ การควบคุมสินค้าวัตถุดิบสำคัญ การป้องกันการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแย่งชิงและป้องกันการเคลื่อนย้ายบุคลากร 

*** การแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐ-จีน ข้อจำกัดจากมาตรการกีดกันต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ นำมาสู่แนวนโยบายที่ส่งผลเสียต่อการค้าเสรีในหลายประเทศ เมื่อรวมกับวิกฤติโควิด-19 รวมถึงสงครามรัสเซีย และ ยูเครน, อิสราเอล และ กลุ่มฮามาส ส่งผลให้แนวโน้มการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลกมีความเข้มข้นมากขึ้น มีการย้ายฐานกลับประเทศแม่ ไปประเทศพันธมิตร เงินลงทุนโดยตรง FDI ลดลง เงินลงทุนจากสหรัฐ ยุโรปลดลง แต่เงินลงทุนจากจีน กลุ่ม BRICSเพิ่มขึ้น ไทยเป็นประเทศที่ FDI ลดลง จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศ

*** การแย่งชิงแรงงาน การแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิต ทำให้เกิดการย้ายฐานอุตสาหกรรม หลายประเทศต้องการแรงงานทักษะสูง นำไปสู่ Talent War จากรายงานข้อมูลดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (The Global Talent Competitiveness Index : GTCI) ปี 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 จาก 134 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน จากผลการจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนว่า ไทยต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้นและเร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมของระบบการพัฒนาแรงงาน

*** วิกฤตผู้อพยพจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้มีการหลั่งไหลของผู้อพยพจากเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การลักขโมยและการก่ออาชญากรรมตามแนวชายแดน

*** ความมั่นคงทางอาหาร สงคราม และ ความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้พื้นที่การเกษตร ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และการกระจายสินค้าอาหารและวัตถุดิบถูกทำลาย เกิดการย้ายถิ่นของประชากร ส่งผลต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อาหารในพื้นที่ใหม่เป็นไปอย่างยากลำบาก ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มต้นทุนและราคาสินค้าเกษตร และอาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารใน ประเทศต่างๆ จึงอาจมีการใช้อาหารเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ

*** ความมั่นคงทางพลังงาน ภาวะสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและหลายประเทศ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานหลายด้านถูกทำลาย รวมทั้งด้านพลังงาน อาทิ ท่อขนส่งนํ้ามัน ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ หรือ การทำลายโรงไฟฟ้า ส่งผลให้มีการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิล กระทบต่อการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน ราคานํ้ามันดิบโลกผันผวน กระทบต่อประเทศไทย ที่นำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านพลังงาน วางกลยุทธ์ในการหาแหล่งทรัพยากรพลังงานใหม่ 

*** การแย่งชิงทรัพยากรนํ้า การบริหารจัดการพลังงานนํ้า อาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีน และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจีนอาศัยความได้เปรียบในฐานะประเทศต้นนํ้าของลุ่มแม่นํ้าโขงก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อประเทศปลายนํ้า ที่เกิดปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง การขึ้นลงของนํ้าผิดปกติ ล้วนเป็นความท้าทายที่ต้องรับมือกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่จะเกิดทั้งทางตรงทางอ้อมกับประเทศไทย 

                            ภูมิรัฐศาสตร์โลกกับผลกระทบประเทศไทย

*** ปิดท้ายกันที่ Sustainability Expo 2024 (SX 2024) มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ปี 5 ชวนฟังแนวคิด เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่ลงมือทำจริง และองค์กรต้นแบบที่กล้าจะเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน สร้างความสมดุลในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนเวที SX GRAND PLENARY HALL และ เวที Talk Stage and Idea Lab 10 วันเต็ม ระหว่าง 27 ก.ย. - 6 ต.ค.นี้  พบวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญกว่า 600 รายทั่วโลก เครือข่ายธุรกิจยั่งยืนจากบริษัท และองค์กรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ กว่า 270 แห่ง มาให้ความรู้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ให้โลกเกิดความสมดุลในทุกมิติ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนปรับตัวและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข ผู้ที่สนใจเข้าชมงานฟรี! ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) เวลา 10.00-20.00 น. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเพื่อลงทะเบียนร่วมกิจกรรมล่วงหน้า ได้ที่ IOS AppStore : https://apps.apple.com/.../sustainability-expo/id1640414525 หรือ Play Store : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sx2022