ชายแดน 'จีน-อินเดีย' ระอุ 2 กองทัพปะทะเดือด ต่างอ้างรุกล้ำเขตแดน

18 ส.ค. 2560 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2560 | 17:55 น.
การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพจีนและอินเดียบริเวณเมืองชายแดนของทั้งสองประเทศในเขตเทือกเขาหิมาลัยยังคงระอุคุกรุ่นมาเป็นเวลาสองเดือนแล้ว โดยล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ (15 ส.ค.) มีการปะทะกันบริเวณชายแดนแคว้นลาดักห์ซึ่งเป็นภูมิภาคเหนือสุดของอินเดียที่มีพรมแดนติดกับจีน และทหารของทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บ แหล่งข่าวฝ่ายอินเดียระบุว่า ทหารจีนเป็นฝ่ายรุกล้ำเขตแดนเข้ามา แต่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด

india-china3

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองศรีนาคา เมืองหลวงของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย ระบุว่า การปะทะดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้บริเวณทะเลสาบแปงกอง (จีนเรียกทะเลสาบ “ผางกงโฉ”) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในโลก ก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายเป็นผู้รุกล้ำเขตแดนอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยมีการปะทะหรือใช้ความรุนแรง

india-china2

พรมแดนในเขตที่ราบสูงและหุบเขาระหว่างจีนและอินเดียนั้น เป็นพรมแดนที่ไม่มีการทำสัญลักษณ์แบ่งเขตแดน มีระยะทางยาวทั้งสิ้นประมาณ 3,500 กิโลเมตร ส่วนที่เป็นกรณีพิพาทในช่วง 2 เดือนมานี้คือบริเวณที่ราบสูงดอกลัม (Doklam) ที่จีนประกาศเป็นพื้นที่ในครอบครองและมีการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ แต่บริเวณดังกล่าวเป็นจุดบรรจบของพรมแดน 3 ประเทศคือ จีน อินเดีย และภูฏาน (ซึ่งเป็นพันธมิตรของอินเดีย) กองทัพอินเดียจึงเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่เพื่อหยุดยั้งการตัดถนนของฝ่ายจีนและขอให้จีนถอยออกจากบริเวณดังกล่าว การเจรจาซึ่งมีขึ้นหลายครั้งยังไม่เป็นผลสำเร็จ จีนขอให้ทหารอินเดียถอยออกไป ขณะที่อินเดียยืนกรานว่า การตัดถนนของจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอินเดียและหากจะถอนกำลังก็ต้องถอนออกทั้งสองฝ่าย

india-china4

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า ในปีค.ศ. 1959 มีการทำความตกลงเกี่ยวกับแนวพรมแดนของทั้งสองฝ่ายในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจีนนั้นยึดปฏิบัติตามและการตระเวนชายแดนของกองทัพจีนก็เป็นไปโดยปกติไม่มีอะไรที่ละเมิดข้อตกลง แต่ฝ่ายอินเดียมีการนำทหารพร้อมอาวุธกว่า 200 นายรุกล้ำเข้ามาในพรมแดนของจีนมากกว่า 100 เมตรพร้อมด้วยรถตักดิน 2 คันเพื่อขัดขวางการตัดถนนของจีน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้อินเดียถอนกองกำลังออกไปในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อระหว่างจีนและอินเดียซึ่งต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง นับเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงในภูมิภาคเป็นอย่างมาก