ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) และบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัดหรือเคทีอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 3 ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชันซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอรับฟังผลการพิจารณาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการบริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.)และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งผลักดันต่อไป
รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเส้นทางนี้นับเป็นอีกหนึ่งเส้นทางระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการเร่งเปิดให้บริการเพราะสามารถเชื่อมเข้าถึงย่านพาณิชยกรรมสำคัญอย่างสีลม สยาม และสุขุมวิทได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เป็นแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่ย่านที่อยู่อาศัย ชุมชน สถานศึกษา และการพาณิชย์ จากพื้นที่เขตตลิ่งชันและภาษีเจริญที่ปัจจุบันมีความเจริญแล้วอย่างมากจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปพัฒนาระบบการให้บริการเดินทางและเร่งส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางมาใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกันมากขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันตกเพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชน
แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อกับโรงจอดปัจจุบันของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริเวณสถานีบางหว้า วิ่งไปทางทิศเหนือตามแนวถนนราชพฤกษ์ โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ผ่านทางแยกตัดถนนบางแวกช่วงซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 และทางแยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 แล้วยกระดับข้ามทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตกไปสิ้นสุดที่บริเวณทางลาดลงของจุดใกล้ๆกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ ช่วงด้านหน้าซอยราชพฤกษ์ 24 รวมระยะทาง 7.5 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สถานีบางแวก สถานีบางเชือกหนัง สถานีบางพรม สถานีอินทราวาส สถานีบรมราชชนนี และสถานีตลิ่งชัน
โครงการนี้ใช้พื้นที่เกาะกลางของถนนราชพฤกษ์ ไม่มีการเวนคืน สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีบางหว้าโดยไม่ต้องเปลี่ยนรถไฟฟ้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคที่บางหว้าและสายสีแดงที่สถานีตลิ่งชัน จึงเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ส่งเสริมการเดินทางและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการโดยเฉพาะจุดรอบสถานีที่มีพื้นที่ติดกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ตลิ่งชันให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถพัฒนาแนวเส้นทางให้ไปถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่บริเวณถนนรัตนาธิเบศร์ ในอนาคตได้อีกด้วย
รถไฟฟ้าเส้นทางนี้ตามผลการศึกษาพบว่ามีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(Net Present Value :NPV) เท่ากับ 18,549 ล้านบาท มีอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย(Benefit Cost Ratio :B/C Ratio เท่ากับ 2.37 และมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ (Economic Internal Rate of Return :EIRR) เท่ากับ 25.61%
เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการคงต้องมาจับตามองการว่าพื้นที่รัศมีโดยรอบสถานีระยะ 500 เมตรจะเกิดการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างไรบ้างสำหรับการพัฒนาความเจริญของการพาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัยของแต่ละสถานีที่จะสนองความเจริญของเมืองในโซนกรุงเทพมหานครได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับอีกหนึ่งเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไปสู่โซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกหรือรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ให้บริการในปัจจุบันไปถึงบางหว้าแล้วยังมีสายสีนํ้าเงินและสายสีแดงเชื่อมโยงให้ได้รับความสะดวกด้านการเดินทางมากขึ้นนั่นเอง
|คอลัมน์ : เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์
| เซกชั่น : เศรษฐกิจมหภาค
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12 ฉบับ 3410 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.2561