ส่องอนาคต 5 ปีทุเรียนไทย หากยังกินบุญเก่า “รอดยาก”

13 มิ.ย. 2562 | 07:00 น.

ส่องอนาคต 5 ปีทุเรียนไทย หากยังกินบุญเก่า “รอดยาก”

 

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ผมได้รับเชิญจากสถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ให้บรรยายเรื่อง “ส่องอนาคตตลาดทุเรียนส่งออกไทย” ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจของอาเซียน แหล่งกำเนิดดั้งเดิมมาจากเกาะบอร์เนียว ที่ประกอบด้วย 3 ประเทศคือ บรูไน มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็จะเรียกทุเรียนว่า “King of Fruit” ทั้งหมด เพราะมีหนามเยอะ มีกลิ่นแรง มีคุณค่าทางอาหารและให้พลังงาน

มาเลเซียปลูกทุเรียนได้ดีที่เมืองราอุบ (Raub)  69,700 ไร่ รัฐปะหัง และปลูกในมาเลเซียตะวันตก (คาบสมุทรมาลายู) ผลผลิตปี 2559 ได้ 302,000 ตัน มีต้นทุเรียน 500,000 ต้น ส่วนอินโดนีเซียมีทุเรียนที่มีชื่อเสียงอยู่ในเมืองเมดาน (Medan) เกาะสุมาตรา และชวา ปี 2559 มีผลผลิตทั้งหมด 1 ล้านตัน (คาดการณ์จาก Statistics Portal ปี 2558 อยู่ที่ 996,540 ตัน) จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 382,787 ไร่ (61,246 เฮกต้าร์) ฟิลิปฟินส์ปลูกมากที่เมืองดาเบา (Davao) ในมินดานาว (Mindanao) คิดเป็นร้อยละ  50 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ

ส่องอนาคต 5 ปีทุเรียนไทย หากยังกินบุญเก่า “รอดยาก”

ในขณะที่เวียดนามปลูกทุเรียนทางตอนใต้ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta)  ใน 13 จังหวัด ปี 2560 คาดว่าให้ผลผลิต 3.5 แสนตัน ส่วนกัมพูชา ทุเรียนกัมฟอตและกัมพงจาม ผลผลิต 33,000 ตัน (Kampot Agriculture Department) ตลาดหลักของทุเรียนร้อยละ 90 อยู่ที่ฮ่องกงกับจีน ส่วนเกาหลีใต้เป็นตลาดที่มาแรงมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

มาเลเซียเป็นประเทศตัวอย่างที่น่าสนใจในการจัดการทุเรียนทั้งระบบ หน่วยงานของมาเลเซียที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนคือกรมวิชาการเกษตร (DOA) หน่วยงานการตลาด (FAMA) คณะกรรมการองค์กรเกษตรกร (Lembaga Pertubuhan Peladang : LPP) และ หน่วยงานวิจัย (MARDI) โดย FAMA (Federal Agricultural Marketing Authority) ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ หาตลาด ให้คำแนะนำ จัดการบรรจุภัณฑ์ ปรับปุรงประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้กับเกษตกรรายย่อย ซึ่งทำงานไปพร้อม ๆ กับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ด้านการวิจัยมอบหมายให้ MARDI (Malaysian Agricultural Research and Development Institute)

ส่องอนาคต 5 ปีทุเรียนไทย หากยังกินบุญเก่า “รอดยาก”

สำหรับประเทศไทย ทุเรียน สับปะรด และลำไย เป็นผลไม้ไทยที่พึงพิงตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ในขณะที่เงาะ ลองกองและลิ้นจี่ตลาดหลักอยู่ในประทศไทย ไทยส่งออกทุเรียน 3 ประเภทคือ ทุเรียนสดไปจีน (50%) เวียดนาม (28%) และฮ่องกง (17%) แช่แข็งไปจีน (49%) เวียดนาม (18%) และสหรัฐฯ (17%)  และทุเรียนอบแห้งร้อยละ 50 ไปที่ฟิลิปฟินส์ และร้อยละ 34% ไปที่จีน


 

 

 ปี 2560 ทั่วโลกผลิตทุเรียน 2.2 ล้านตัน ความต้องการรวม 8 แสนตัน (ทุเรียนสด 5.5 แสนตัน แช่แข็ง 1.5 แสนตันและอบแห้ง 1 แสนตัน) ที่เหลืออีก 1 ล้านกว่าตันเพื่อไปแปรรูปของตนเอง อินโดนีเซียมีสัดส่วนการผลิต 44% ตามด้วยไทย 27% มาเลเซียและเวียดนาม ตามลำดับ ปี 2562 คาดผลผลิตทุเรียนไทยประมาณ 9.5 แสนตัน ขณะที่การผลิตทุเรียนโลกในปี 2562 อยู่ที่  2.5 ล้านตัน

ส่องอนาคต 5 ปีทุเรียนไทย หากยังกินบุญเก่า “รอดยาก”

คำถามที่สำคัญคือ “อนาคตทุเรียนไทย” จะเป็นอย่างไรภายใต้ประเทศอาเซียนขยายการผลิตเกือบทุกประเทศ ภายใต้ความต้องการที่ขีดวงจำกัดเฉพาะที่จีนกับฮ่องกง

ผมมีข้อเสนอแนะสำหรับอนาคตทุเรียนไทย 6 ข้อดังนี้ 1.ในอีก 5 ปีข้างหน้าไทยต้องวิเคราะห์ว่าปริมาณการผลิต และความต้องการของโลกเท่าไร 2.เน้นคุณภาพและมาตรฐาน ต้องปฎิเสธทุเรียนอ่อน และคุณภาพไม่ดี 3.แปรรูปให้มีความหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะทุเรียนอบแห้ง อะไรก็ได้ที่มีส่วนผสมของทุเรียน (จีนชอบมาก)  4.ร้านทุเรียน Durian Kiosk เช่น เค้กทุเรียน ฟิตซ่าทุเรียน โยเกิตทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน ชาทุเรียน กาแฟทุเรียน ซ็อกโกแลตทุเรียน เครฟทุเรียน ชีสทุเรียน และครีบบำรุงหน้าและผิว เป็นต้น 5.ขยายไปตลาดอื่นๆ นอกจากจีนและฮ่องกงแล้ว (ร้อยละ 90)  ตลาดสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง (ดูไบ) และสิงคโปร์ มีความต้องการเพิ่มและ 6.เน้นทุเรียนเอกลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ทุเรียนนนทบุรี หลงลับแล อุตรดิตถ์ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทุเรียนป่าละอู ประจวบฯ และกลุ่มทุเรียนท้องถิ่นดังๆ อีกมากมาย เช่น ทุเรียนสาลิกาพังงา ทุเรียนเพชรชุมพร และทุเรียนปราจีนบุรี เป็นต้น

ส่องอนาคต 5 ปีทุเรียนไทย หากยังกินบุญเก่า “รอดยาก”

หากประเทศไทย “ปล่อยทุเรียนตามยถากรรมและกินบุญเก่า” ผมคิดว่า “รอดยาก” เพราะ 1.คนที่ปลูกใหม่ที่ไม่มีความรู้จะทำให้ตลาดมีปัญหา เพราะจะผลิตทุเรียนที่ไม่มีคุณภาพ 2.นักธุรกิจจีนไปเร่งปลูกที่ CLMV เมื่อได้ผลผลิตออกมา ไทยกระทบแน่นอน 3.ผลผลิตของมาเลเซียที่จะขายในประเทศจีนจากทุเรียน “Musang King หรือ “Mao San Wang (เม่า ซาน หวาง)” เพราะการจัดเทศกาลทุเรียนมาเลเซีย ที่กว่างซี่และการทำข้อตกลงส่งทุเรียนเข้าจีนทั้งลูกในปี 2562

ผมขอเสนอทางรอดของทุเรียนไทยดังนี้  1.ทำโรดแมปทุเรียนใน 5 ปีข้างหน้าทั้งผลผลิตและความต้องการของโลก 2.ต้องมี “เจ้าภาพหลักทุเรียน” เช่น ไทยควรผลักดัน “สถาบันพัฒนาทุเรียนแห่งอนาคต” ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น คือนำเกษตรกรที่รู้เรื่องทุเรียนและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทำเป็นหลักสูตรทุเรียนครบวงจรที่สมบูรณ์ของไทยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เท่าทันในอนาคตรวมถึงตลาดต่างประเทศ (คุณปราโมทย์ ร่วมสุข เป็นผู้ริเริ่ม) 3.เน้นทุเรียนคุณภาพและอัตลักษณ์ท้องถิ่นและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุเรียน ก่อนส่งออกไปต่างประเทศ (ปฎิเสธทุเรียนอ่อนและไม่มีคุณภาพอย่างสิ้นเชิง)

4.ส่งเสริมและพัฒนาทุเรียนแปรรูปมากขึ้นและทุกรูปแบบ “New E-Commerce Law : ECL” จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน (หากยังผลิตไม่มีคุณภาพ) 6.ไทยกับจีน ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบคุณภาพทุเรียนร่วมกัน 7.ไทย เวียดนาม และจีน ต้องร่วมกันสร้างระบบและมาตรฐานการขนส่งข้ามแดนที่ด่านหยวนยี้กวน อ.ผิงเสียง หนานหนิง กว่างซี่ ประเทศจีน 8.หาตลาดอื่นๆ ของจีน ที่ไม่ใช่ตลาดเจียงหนาน และไฮกรีน เช่น ตลาดเจียซิง (Jiaxing) ตั้งอยู่ในมณฑลเจอเจียง ที่สามารถส่งขายที่มณฑลจ้อเจียง คุณหมิง กวางโจว และเซียงไฮ้ เป็นต้น