มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 สั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ลดภาษีที่ดินทุกประเภท ลง 90% เฉพาะ ปี 2563 (ม.ค.-ธ.ค.) เพื่อช่วยเหลือ ประชาชน เจ้าของกิจการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่จะเริ่มเสียภาษี วันที่ 1 สิงหาคม นี้ หลังจากเลื่อนการจัดเก็บมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนจากความไม่พร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ทว่าในมุมกลับกลับกลายเป็นความโชคดี สำหรับ แลนด์ลอร์ด ราชาที่ดิน เศรษฐีมีเงินรายใหญ่ที่มักสะสมที่ดินแล้วปล่อยทิ้งร้าง ไม่ทำประโยชน์ เริ่มจากกระทรวงการคลังเปิดช่องให้นำที่ดินรกร้างปรับทำการเกษตร ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้จัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดิน (วันที่ 1 มกราคม 2563) โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเงื่อนเวลา, หรือเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ ประเด็นนี้จึงช่วยให้เจ้าของที่ดิน ลดภาระค่าใช้จ่ายอัตราภาษีลง จาก 0.3% เหลือเพียง0.01%ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดของภาคการเกษตรที่กำหนดว่า กรณีที่ดินมีมูลค่า ไม่เกิน 75 ล้านบาท (คิดตามราคาประเมินที่ดินกรมธนารักษ์) และหากราคาที่ดินมูลค่า เกิน 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03% มูลค่าเกิน 100-500 ล้านเสียภาษี 0.05% มูลค่าเกิน 500-1,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.07% และเกิน 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป เสียภาษี ในอัตรา 0.10% เรียกว่าต่อให้ที่ดินมีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ตามราคาประเมินก็ยังคงเสียที่อัตรา 0.1% ซึ่งยังต่ำกว่าอัตรารกร้างว่างเปล่าอยู่มาก โดยเฉพาะ ทำเลกลางเมือง แนวรถไฟฟ้า ผลที่ตามมา ท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร จัดเก็บรายได้ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งๆที่กทม.สำรวจพบว่ามีที่ดินปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์มากถึงกว่า 6 หมื่นไร่ และเมื่อรัฐบาลลดภาษีลดทุกประเภทลง 90% ในปี 2563 กลุ่มเศรษฐีเหล่านี้ ยิ่งได้อานิสงส์ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้อีก
แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการจัดเก็บภาษี จะเรียกเก็บ ตามปีปฏิทิน คือ ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 ขณะการผ่อนปรนของรัฐบาลช่วยเหลือเอกชน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ลดภาษีลง 90% น่าจะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายลงได้มากรวมถึงกลุ่มแลนด์ลอร์ด ที่นำที่ดินออกพัฒนาทำเกษตรพืชผล นอกจากจะเสียภาษีอัตราที่ต่ำแล้ว เมื่อได้รับส่วนลดภาษี 90% ตามนโยบายรัฐบาลจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเฉพาะในปีนั้นมากขึ้นขณะท้องถิ่น โดยเฉพาะกทม.จะมีรายได้ลดลง ส่วนเงื่อนไขการลงพืชผลทางการเกษตร อาทิ ปลูกกล้วย 200 ต้นต่อ 1 ไร่ เชื่อว่า เอกชนทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับรายได้จากภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ที่กทม.จัดเก็บเฉลี่ยกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี เทียบการจัดเก็บภาษีที่ดินแต่ละปี ประเมินว่ารายได้อยู่ที่ กว่า 2 หมื่นล้านบาทเนื่องจากทรัพย์สินหลายรายการได้รับยกเว้น หรือเสียภาษีลดลงเมื่อเทียบกับภาษีเก่า และหากปี 63 ลดภาษีลง 90% คาดว่าจะมีรายจะหายไป 90% จากกว่า 2 หมื่นล้านบาทที่ประเมินไว้เดิมเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามคาดว่ารัฐบาลอาจจะชดเชยเยียวยารายได้ให้กับท้องถิ่น ตามสัดส่วนที่ขาดหายไป อย่างแน่นอน
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจที่ดินใจกลางเมือง พบที่ดิน ผืนใหญ่เริ่มนำออกพัฒนาเป็นแปลงเกษตร เช่นที่ดินแปลงขนานไปกับถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ตัดกับถนนพระราม9 เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 30-50 ไร่ มีต้นกล้วย ขนาดเล็กเกิดขึ้นเต็มพื้นที่, ที่ดินย่านศรีนครินทร์ไม่ต่ำกว่า 1-2 แปลง มีการขุดเป็นท้องร่องเพื่อทำแปลงเกษตรปลูกกล้วย และนำบ่อซีเมนส์ ปลูกต้นมะนาว เช่นเดียวกับ ที่ดินเทพารักษ์ หัวมุมถนนติดกับปั๊มปตท. สังเกตเห็นบ่อซิเมนต์ วางเรียงรายปลูกต้นมะนาว นอกเหนือไปจาก ที่ดิน แปลงรัชดาฯ-พระราม9 ของ นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร เนื้อที่ 33 ไร่ติดสถานี MRT ศูนย์วัฒนธรรมและสายสีส้มตะวันออกที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ที่เรียกเสียงฮือฮาจากสวนมะนาวบนที่ดิน 1 หมื่นล้านไปก่อนหน้านี้
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับ 3,581 วันที่ 7-10 มิถุนายน 2563