นางสาวภารดี สินธวณรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สำหรับภาพตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากที่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ให้ประชาชนอยู่บ้านทำให้ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมี การเติบโตมากขึ้นไปอีก โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท สูงขึ้น 35% จากปี 2562 ขณะที่ภาพรวมธุรกิจของลาซาด้าในช่วงที่มีการล็อกดาวน์นั้นตั้งแต่เดือนมีนาคมลาซาด้ามีนักช็อปรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนหลายล้านราย โดยพบว่ามีการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30%
ทั้งนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ผู้ขายและแบรนด์บนลาซาด้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งในช่วงล็อกดาวน์ สินค้าเครื่องกีฬา ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้ง เครื่องครัวขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์รวมไปถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นมียอดขายพุ่งขึ้น 250- 500% รวมถึงมีผู้ขายรายใหม่ที่สามารถสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นกว่า 75% โดยผู้ขายรายใหม่กว่า 90,000 รายได้มีการเข้าร่วม SME Stimulus Package เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาดและสร้างรายได้ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมาลาซาด้า ยังคงชูกลยุทธ์ Shoppertainment เพื่อขยายฐานผู้บริโภคที่มากไปกว่าแค่การซื้อขายสินค้าแต่เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มลาซาด้าได้นานมากขึ้นทั้งการชมไลฟ์สตรีมมิง เล่นเกมส์ หรือค้นหาดีลสำหรับซื้อสินค้า ซึ่งกลยุทธ์นี้ช่วยสร้างการมีส่วนร่วม ทำให้มีจำนวนดิจิทัลเนทีฟ (Digital Native) หรือกลุ่มคนที่เกิดและโตมาในยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว และผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่มาใช้บริการบนแอพพลิเคชันมากขึ้น ขณะที่ LazLive ฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ขายสามารถเข้าถึงลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ผ่านการไลฟ์สตรีมยังคงโตสวนกระแส โดยมีจำนวนผู้ไลฟ์รายใหม่เพิ่มขึ้น 30% จำนวนไลฟ์คอนเทนต์ เพิ่มขึ้น 25% มีการสร้างสรรค์คอนเทนต์บน LazLive กว่า 1,500 คอนเทนต์ต่อสัปดาห์ มีจำนวนผู้เข้าชมรายวันเพิ่มขึ้น 13% และจำนวนการคลิกเพิ่มขึ้น 30%
“อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านพ้นวิกฤติของโควิด-19 ไปแล้ว เมื่อห้างสรรพสินค้ามีการเปิดให้บริการตามปกติ ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะการช็อปออนไลน์เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่หรือ New Normal เป็นการทำให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความเป็นดิจิทัล ไม่ ใช่แค่การซื้อของออนไลน์ แต่ ยังรวมถึงการสั่งซื้ออาหารดีลิเวอรีผ่านแอพ การประชุมพูดคุยสื่อสารระหว่างกันที่ ล้วนต่างก็เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยเพื่อไปสู่ความเป็น New Normal มากขึ้น”
ด้านนายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด กล่าวว่าจากงานวิจัยเรื่องสงครามอี-คอมเมิร์ซของ iPrice พบว่า เมื่อนำจำนวนผู้เข้าชมสินค้าในเว็บไซต์โดยเฉลี่ยของ ไตรมาสที่ 4 ปี 2019 มาเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2020 โดยเน้น 10 อันดับร้านค้าอี-คอมเมิร์ซสายไอทีสัญชาติไทยจะเห็นว่ามีร้านค้าจำนวนกว่าครึ่งที่มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยแอดไวซ์เพิ่มสูงสุดถึง 3.6% นอกนั้นมีจำนวนเพิ่มเฉลี่ย 1%
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วนธุรกิจ แต่ก็ใช่ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้น จะไม่สามารถพลิกเป็นโอกาสได้จากสถานการณ์นี้ทำให้ ผู้คนเลือกอยู่บ้านมากขึ้นรวมถึงพฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย โดยเน้นการหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าการออกไปเลือกซื้อเองนอกบ้านเพื่อความปลอดภัย ซึ่งแอดไวซ์ได้วางยุทธศาสตร์และเป้าหมายไปที่ธุรกิจออนไลน์ และยิ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้แอดไวซ์ต้องกำหนดตำแหน่งของกลุ่ม ลูกค้าให้ชัดเจนขึ้นถือเป็นการบ้านที่แอดไวซ์ต้องทำการวิเคราะห์ต่อไป แม้ประเทศไทยจะผ่านพ้นสถานการณ์นี้แล้ว กลายเป็น New Normal แล้วก็ตาม ซึ่งในปัจจุบันแอดไวซ์ได้เข้าร่วมกับ E-marketplace อย่าง Shopee เพื่อเพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น ทั้งยังสามารถนำพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าในส่วนนี้มาวิเคราะห์เพื่อวางกลยุทธ์เพิ่มเติมได้อีกด้วย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,585 หน้า 16 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน 2563