มติกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี ปรับเป้าเศรษฐกิจปีนี้ -8.1%

24 มิ.ย. 2563 | 07:00 น.

มติกนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 0.50% ต่อปี พร้อมปรับเป้าเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ 8.1%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง ครั้งที่ 4 ปี 2563  ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563  โดยระบุว่า คณะกรรมการ กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปี 

 

ทั้งนี้ กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 0.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้โดยจึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจ หรือจีดีพีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 5.3% เป็น 8.1% และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 5% ในปี 2564 เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก

 

รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

 

 คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคาร ไทยพาณิชย์ (จำกัด)หรือ EIC มองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ เพราะที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายหลายด้านแล้ว รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปล่วงหน้าที่ระดับ 0.50%ต่อปี นอกจากนี้ยังมีมาตรการดูแลสภาพคล่องหรือลดต้นทุนทางการเงินกับผู้กู้รายย่อย รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้หรือยืดการชำระหนี้

 

“กนง.น่าจะเก็บกระสุนดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีอยู่จำกัด เพื่อใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี ถ้าเกิดเหตุการระบาดโควิดระลอกสอง ไม่ว่าในไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไปอีกก็อาจจะนำมาใช้ในช่วงนั้น รอบนี้อาจจะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน”

สำหรับโจทย์หลักของกนง.ขณะนี้ คงต้องให้นํ้าหนักเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เป้าหมายของกนง. นอกจากเงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน โดยโจทย์หลักของภาคการเงินเวลานี้ จะต้องประคับประคองให้ต้นทุนทางการเงินลดตํ่าลง เพราะทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจมีรายได้ลดลง รวมถึงดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอในระบบ เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจช่วงนี้ และเมื่อสัญญาณความเชื่อมั่นดีขึ้น กนง.จึงเน้นบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ 

 

ส่วนแนวโน้มปีนี้ กนง.ให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งน่าจะติดลบจากราคานํ้ามัน แต่ต้องจับตาสินค้าประเภทอื่น (นอกจากอาหารสดและราคานํ้ามัน)ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มแผ่วลงตามกำลังซื้อที่ลดลงทำให้ราคาชะลอลง ในแง่ผู้ประกอบการเองชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าหรืออาจจะต้องลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องอัตราเงินเฟ้อติดลบ เพื่อไม่ให้นำไปสู่ภาวะเงินฝืด