แก้ราคายางตกต่ำ กลุ่มสหกรณ์การเกษตร บึงกาฬ ยื่นขอโรงงานทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ มูลค่า 120 ล้านบาท จากงบฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อผลิตป้อนกระทรวงคมนาคม ที่ขอตั้งงบ 3 ปี (2563-2565) 8.56 หมื่นล้านจัดซื้อ คาดสร้างประโยชน์เกษตรกรสวนยาง 3 หมื่นล้านบาท
นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายสภาเกษตรกร จังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มสหกรณ์การเกษตร จ.บึงกาฬ 33 แห่ง ที่มีระบบการผลิตยางพารา ร่วมกันเสนอโครงการเบื้องต้น (Project Brief) ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดเชื้อโควิด-19 (งบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท) รวม 5 กิจกรรม ส่งถึงจังหวัดบึงกาฬผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณากลั่นกรอง
แผนงานหนึ่งที่สำคัญคือ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 120 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราเป็นแผ่นยางพาราครอบแท่งคอนกรีตแบริเออร์ เพื่อรับจ้างโครงการที่กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เป็นหน่วยงานเสนอขอตั้งงบประมาณต่อเนื่อง 3 ปี (2563-2565) วงเงินจำนวน 85,623.774 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางพาราจะได้รับผลโยชน์จากโครงการดังกล่าว 30,108.805 ล้านบาท
นายเจตน์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬเป็นแหล่งปลูกสวนยางพารามากที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 1.2 ล้านไร่ ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประมาณ 8 แสนไร่ เป็นอันดับ 6 ของประเทศ มีครัวเรือนเกษตรกรเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตยางพาราหลายหมื่นครอบครัว ที่เวลานี้กำลังเดือดร้อนหนัก จากราคายางพาราที่ตกต่ำลงมาเหลือเพียง 17-19 บาท/กิโลกรัม ยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 รัฐเข้มงวดกิจกรรมต่างๆ เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวเกษตรกรยิ่งเดือดร้อน จนมีชาวสวนยางพาราตัดสินใจโค่นต้นยางพาราทิ้งหันไปปลูกพืชอื่นแทน โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่ฟื้นตัวในระยะอันสั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บูม“บึงกาฬ” เมืองเศรษฐกิจใหม่ จี้รัฐเทลงทุนถนน-รถไฟ-สนามบิน
“บึงกาฬ”กัก4คนจากป่าตองส่งค่ายตชด.
อย่างไรก็ตามเกษตรกรชาวสวนยางพารามีความหวังโครงการนำยางพารามาใช้ปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนของกระทรวงคมนาคม ตามที่ครม.เห็นชอบแล้วเมื่อ 25 พฤษาคม 2563 ที่ผ่านมา ให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ตั้งงบประมาณต่อเนื่อง 3 ปี จัดซื้อแท่งแบริเออร์ ชนิดที่ใช้ยางธรรมชาติหุ้ม (Rubber Fender Barier : BFB) รวมระยะทาง 12,282.73 ก.ม. และหลักนำทางจากยางธรรมชาติ (Rubber Guider Post : RGP) จำนวน 1,063,651 ต้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน และช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่จะขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้น
“ทราบมาว่าทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้พิจารณาผ่านรอบแรกแล้วบางกิจกรรม ในฐานะของกลุ่มสหกรรณ์การเกษตรจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยางพาราทุกแห่ง ได้พิจารณาเห็นว่า กิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องราคายางพาราได้ เพราะเป็นโครงการของรัฐที่มีการกำหนดมาตรฐานการผลิต มีงบประมาณว่าจ้างการผลิตที่ชัดเจนต่อเนื่อง 3 ปี และเงื่อนไข อื่นๆ ตามข้อกำหนดที่มีความชัดเจนมาก จึงหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาอนุมัติงบประมาณดังกล่าว”
นายเจตน์กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ตั้งโรงงานนั้น จากการพิจารณาแล้วขอเปลี่ยนมาใช้พื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายสภาเกษตรกร จังหวัดบึงกาฬ แทน เนื่องจากพื้นที่นิคมศูนย์คลัสเตอร์ยางพารา (Rubber Economic Cluster) ที่อำเภอเมืองบึงกาฬ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพราะมีระเบียบขั้นตอนยุ่งยาก มีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 17 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,602 วันที่ 20-22 สิงหาคม พ.ศ.2563