นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังเดินหน้าผลักดันให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีการแจ้งแรงงานเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ้างงาน และผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในธุรกิจค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ ซึ่งปัจจุบันในอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง รวมถึงธุรกิจร้านอาหาร มีแรงงานราว 10 ล้านคน และยังต้องการใช้แรงงานเพิ่มมากขึ้นตามช่วงเวลาที่ลูกค้านิยมใช้บริการ
เช่นในธุรกิจร้านค้าปลีก ช่วงเช้ามักจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ และคึกคักในช่วง 12.00-13.30 น. จากนั้นจะลดลง และกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วง 18.00-20.00 น. ขณะที่ร้านกาแฟ จะมีช่วงพีคในเวลา 7.00-9.00 น. และ 12.00-14.00 น. ร้านอาหาร มีช่วงพีคเวลา 12.00-14.00 น. และ 18.00 -20.00 น. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจำเป็นจะต้องใช้พนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้บริการที่ทันท่วงที และทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มอัตราการจ้างงานด้วย
“ข้อดีของการจ้างงานรายชั่วโมงคือ นายจ้างจะมีความยืดหยุ่นในการจ้างงานและสามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ขณะที่ลูกจ้างก็สามารถมีรายได้ที่สองเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป ซึ่งในหลายธุรกิจมีความต้องการการจ้างงานรายชั่วโมง เช่น ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ ดังนั้นรัฐบาลควรนำร่องโดยให้มีการดำเนินการในระยะเริ่มต้นทดลอง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาทดลองปฏิบัติเช่น 1 ปี และประเมินผล มีหน่วยงานในการวิจัยและสำรวจสรุปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
อย่างไรก็ดี การจ้างงานพนักงานประจำรายชั่วโมงจะแตกต่างกับพนักงานพาร์ทไทม์ ที่กำหนดให้จ้างได้เฉพาะนักเรียน นักศึกษาและผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเวลา และวัตถุประสงค์ที่ต้องการเพิ่มทักษะการทำงาน และความชำนาญให้กับผู้ปฏิบัติงาน ขณะที่การจ้างงานพนักงานประจำรายชั่วโมง เป็นการเพิ่มอัตราการจ้างงานเพิ่ม ไม่ได้ใช่การทดแทนการจ้างงานพนักงานประจำ โดยผู้ว่าจ้างสามารถกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน การให้สิทธิประโยชน์ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ได้ด้วย
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพฤติกรรมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป นิยมทำงานฟรีแลนซ์-พาร์ทไทม์มากขึ้น โดยเลือกจะทำงานอิสระ และเป็นการจ้างงานรายชั่วโมง ไม่ใช่งานประจำ ซึ่งการมีกฎหมายการจ้างงานรายชั่วโมงจะเป็นการตอบรับตามภูมิทัศน์ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันพบว่าในหลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับทิศทางของโลกแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยกเลิกการจ้างงานตลอดชีพ (Lifetime employment) มานานนับ 10 ปีแล้ว
ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะมุ่งสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะชน พร้อมกับนำเสนอแนวคิดนี้ไปยังหน่วยงานภาคเอกชนอื่นที่มีความต้องการ พร้อมนำเสนอต่อกระทรวงแรงงานเพื่อให้พิจารณาการออกประกาศอัตราจ้างแรงงานรายชั่วโมง เพราะเชื่อมั่นว่าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งต้องหยุดกิจการชั่วคราว ขณะที่บางกลุ่มต้องลดต้นทุนด้วยการลดการจ้างงาน เพื่อให้องค์กรอยู่ได้ ภาครัฐเองจึงต้องมีนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาให้มีการจ้างงานที่เหมาะสมและสอดรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ส.อ.ท.” ผนึก “มทร.กรุงเทพ” สร้างบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน
กระทรวงแรงงาน ผลิต “พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์” ช่องทางอาชีพยุค New Normal