นับถอยหลังสู่วันอาทิตย์ที่ 17 ม.ค. 2564 นี้ ซึ่งจะครบ 14 วัน หรือ ระยะปลอดภัย นับจากที่รัฐบาลประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ทันทีที่สิ้นสุดเทศกาลปีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 ระดับตามความเข้มข้นของสถานการณ์การแพร่ระบาด และให้แต่ละจังหวัดเลือกใช้มาตรการควบคุมให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นับเป็นหลักหมายสำคัญของการสู้ศึกโควิด-19 ยกนี้
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เรียกร้องให้ร่วมมือกันดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดอย่างเต็มที่ เพื่อจะประเมินกันอีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป ซึ่งการสิ้นสุดของการใช้มาตรการชุดนี้ในวันที่ 31 ม.ค. หรือ 2 เท่าของระยะปลอดภัย จึงเป็นช่วงการดูผลของการออกฤทธิ์ ดังนั้นหากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ เท่ากับว่า “เราใช้ยาได้ผล” และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วจะได้ลดยาแรงอย่างเหมาะสมในลำดับต่อไป
เบื้องต้นตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2563 -14 ม.ค. 2564 มียอดรวม 7,025 ราย แต่เมื่อแยกย่อยเป็นรายสัปดาห์ พบว่าสัปดาห์แรกของปี 2564 กราฟยังพุ่งสูงขึ้น มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 2,674 ราย สัปดาห์ถัดมาที่ยังเหลืออีกสองวันตัวเลขอยู่ที่ 1,209 ราย ถือว่าวางใจได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องระวังว่าตัวเลขจะพุ่งพรวดในวันเดียวหรือไม่
ส่วนพื้นที่การติดเชื้อล่าสุดกระจายอยู่ใน 60 จังหวัด โดยมี 17 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ราย อยู่ที่ 10 จังหวัด ช่วงหลังบางวันในกลุ่มนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม หรือมียอดผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง โดยหากตัวเลขการติดเชื้อใน 10 จังหวัดนี้ลดลงจะทำให้ตัวเลขรวมทั้งประเทศลดลงอย่างเห็นชัด อย่างไรก็ตามทุกพื้นที่มีความเสี่ยงที่การระบาดจะปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา
เดือนมกราคมนี้จึงเป็นห้วงเวลาเพื่อประเมินผลมาตรการที่ประกาศใช้รอบนี้ ว่ามีประสิทธิผลมากพอจะควบคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 ให้สงบลง หรืออยู่ภายใต้การบริหารจัดการของระบบสาธารณสุขของไทยได้อีกครั้งหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจการดำเนินการในระยะต่อไปว่าจะยกระดับ คงมาตรการ หรือคลายล็อกลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเปรียบเทียบว่า การสู้กับโรคระบาดเหมือนแข่งวิ่งมาราธอน ต้องมีทั้งช่วงเร่ง ช่วงผ่อน ถึงจังหวะเดินก็ต้องเดิน เพื่อไม่หมดแรงก่อนไปให้ถึงเส้นชัย นั่นคือ ต้องไม่ทุ่มทรัพยากรจนหมดไปกับศึกยกแรก แต่ต้องเตรียมแผนการรบที่อาจมีหลายศึกและยืดเยื้อ
การต่อสู้วิกฤติเชื้อโควิด-19 จึงต้องพิจารณาหลากหลายมิติ และไม่ฝากความหวังไว้กับเครื่องมือเดียว อาทิ วัคซีนโควิด-19 ซึ่งยังต้องพิสูจน์ประสิทธิผลระยะยาว ทั้งในการป้องกันไวรัส และผลข้างเคียงต่อมนุษย์ รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัส ขณะที่การป้องกันสามารถทำได้จากพฤติกรรมด้านสุขอนามัยของคนอีกทางหนึ่ง เพราะชัยชนะที่แท้จริงคือ ประเทศไหนพร้อมสุดที่จะก้าวเดินต่อหลังวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้