บิ๊กเนมลุ้นค้าปลีก Q1 “ตรุษจีน” ฮีโร่อีเว้นต์ฉุดยอดคึกคัก 

31 ม.ค. 2564 | 19:00 น.

ค้าปลีกไตรมาส 1 ลุ้นหนัก หลังโควิด ระลอกใหม่ยังแพร่ระบาดหนัก บิ๊กเนมปาดเหงื่อ ปรับแผนจ้าละหวั่น หั่นลดกิจกรรม หันอัดฉีดงบจัดใหญ่ “ตรุษจีน” หวังอานิสงส์ อาตี๋ อาหมวย แห่จับจ่าย สร้างบรรยากาศคึกคัก 

 

ภาพรวมดัชนีค้าปลีกไตรมาส 1 ในปี 2563 พบว่ามีการเติบโตลดลง 3-7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ด้วยปัจจัยของโควิด-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดในเมืองไทยนับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ก่อนจะขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคม แม้จะได้รับผลกระทบหนักจนถึงขั้นล็อกดาวน์ แต่ผู้ประกอบการค้าปลีกบางส่วน ยังมองว่ามีความโชคดี ที่ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นรอยต่อจากช่วงไฮซีซั่นจึงทำยอดขายได้ดี การเติบโตลดลงเพียง 3-7% ถือเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ จากเดิมที่คาดว่าจะลดลงมากว่า 10% ดัชนีค้าปลีกไตรมาส 1 ในปี 2564 จึงถูกจับตามองว่า จะมีการเติบโตลดลงอีกเท่าไร เมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด ระลอกใหม่ที่เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เพียงการฉุดมูดการจับจ่ายให้ลดลง ผู้ประกอบการต้องเพิ่มมาตรการเข้มข้น ส่วนผู้บริโภคเองก็เฝ้าระวัง และหวั่นวิตกมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงันไปด้วย

 

“ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกในไตรมาสแรก จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะประกาศล็อกดาวน์อีกหรือไม่ ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่เหลือจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น ส่วนวัคซีนก็ยังไม่สามารถใช้ได้ เชื่อว่า โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 1 ปี และหากมีการแพร่ระบาดในเฟส 3 ก็จะยิ่งขยายระยะเวลานานขึ้นไปอีก”

ไฮไลต์ไตรมาส1

 

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ ยังกล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการเองต้องปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนแผนงานตลอดเวลา ลดการจัดกิจกรรมการตลาด เพื่อลดการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมาก เว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยขั้นสูงสุด

 

“แผนการตลาดต้องปรับเดือนต่อเดือน หรือหากสถานการณ์เปลี่ยนก็ต้องปรับเปลี่ยนทันที ตัวอย่างเช่น อีเว้นต์ตรุษจีน ซึ่งเป็นอีเว้นต์ใหญ่สุดในไตรมาสแรกนี้ เดิมวางไว้เป็นอีกรูปแบบโดยใช้งบ 80 ล้านบาท แต่เมื่อภาครัฐประกาศคลายล็อกดาวน์ ให้ธุรกิจหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้ รวมถึงการเปิดโรงเรียนตามปกติ ทำให้ต้องปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมให้มีอิมแพคมากขึ้น ด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ในเครืออย่างซีอาร์ซี และพันธมิตรอื่นๆ มาช่วยเสริมเพราะเชื่อว่า ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นและออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น”

 

โดยในไตรมาสแรกนี้ ยอมรับว่า ลดการจัดอีเว้นต์ไปจำนวนหนึ่ง เพื่อให้สอดรับกับมาตรการของภาครัฐ ขณะที่อีเว้นต์ “ตรุษจีน” ถือเป็นอีเว้นต์ใหญ่ที่เป็นไฮไลต์ของไตรมาส 1 ซึ่งจะช่วยดึงกลุ่มลูกค้าให้กลับมาจับจ่ายซื้อสินค้าตามประเพณีที่ดำเนินสืบต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าเพื่อไหว้บรรพบุรุษ การซื้อเสื้อผ้าใหม่ การซื้อของตกแต่งบ้าน เป็นต้น โดยตรุษจีนปีนี้คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น 15-20%

 

“อีเว้นต์ตรุษจีนปีนี้จะอยู่ในรูปแบบนิว นอร์มอล อาจจะไม่มีกิจกรรมที่ส่งเสียงหรือสร้างความระทึกคึกโครมมากนัก มังกรหรือสิงโตก็จะไซส์เล็กลง ตามความเหมาะสม และเป็นการตอกย้ำเดสติเนชั่นการจับจ่าย ไหว้ กิน และเที่ยว ของ Chinese New Year”

 

ขณะที่นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในไตรมาส 1 นี้ เทศกาลตรุษจีนถือเป็นอีเว้นต์สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มทราฟฟิคให้กับศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั้งที่เดอะ มอลล์ , ดิ เอ็มโพเรียม , ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ซึ่งภาพรวมปีนี้เชื่อว่ายังคงคึกคัก จากการที่คนไทยเชื้อสายจีนออกมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้กลุ่มเดอะ มอลล์ใช้งบการตลาดราว 120 ล้านบาท ในการจัด 2 แคมเปญใหม่กระตุ้นยอดขายในปีฉลูทอง ได้แก่ THE MALL HAPPY CHINESE NEW YEAR 2021 : ยุทธภพความสุข เดอะซีรีส์ และ CHINESE NEW YEAR JOY LUCK LOVE : ฉลองตรุษ สุดปัง

 

“ถือเป็นการผนึกกำลังของศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ที่จะสร้างสีสันและกระตุ้นยอดขายให้กับร้านค้าเช่า รวมถึงนักช็อปให้กลับมาคึกคัก ซึ่งขอให้เชื่อมั่นในมาตรการด้านความปลอดภัยที่อยู่ในขั้นสูงสุด อย่างไรก็ดี การจัดอีเว้นต์ใหญ่นี้เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาสแรกนี้เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเวลาปกติ”

 

เช่นเดียวกับนางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายส่งเสริมการตลาดและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ภายใต้ชื่อ วันสยาม (OneSiam) และไอคอนสยาม กล่าวว่า การกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคในไตรมาสแรกนี้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับนโยบายของภาครัฐ ทั้งซิกเนเจอร์อีเว้นต์และกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นอีเว้นต์หลักด้วย โดยมีการนำ E&S commerce มาช่วยสนับสนุนการขายของกลุ่ม One Siam และ ไอคอนสยาม พร้อมใช้งบกว่า 100 ล้านบาทในการจัดโปรโมชั่นแคมเปญในทุกช่องทางทั้งที่ร้านและออนไลน์ช็อปปิ้ง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของลูกค้าให้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังในไตรมาส 1 นี้ คือ มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ระลอกใหม่ และมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่จะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังการจับจ่ายมากขึ้น หลังจากที่พบว่า มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายและเม็ดเงินสะพัด ดังนั้นยังต้องจับตาว่าภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมอีก 

 

ที่มา : หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เซ็นทรัล ผนึกพันธมิตร  ปลุกแรงซื้อ ‘ตรุษจีน’

ลดแหลก70% เที่ยวตรุษจีน “ภูเก็ต”

ของขวัญมงคลต้อนรับตรุษจีน 2564

ห้างคลายล็อก กลับมาเปิด-ปิดปกติ ดีเดย์ 1 ก.พ.นี้

ดัชนีค้าปลีก จ่อทรุด 4-10%  ลุ้น ‘วัคซีน’ กระตุ้นศก.