ห้างโตคิว ถือเป็นห้างญี่ปุ่น แบรนด์แรกๆที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ฝ่าวิกฤติต่างๆมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติในประเทศ ต่างประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเมือง แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับคลื่นความเปลี่ยนแปลงของสนามธุรกิจและวิกฤติโควิด-19ที่ถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว
ห้างโตคิว (TOKYU) คือห้างสรรพสินค้าในเครือ โตคิว กรุ๊ป ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2453 ดำเนินกิจการครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจพัฒนาและให้บริการระบบรถไฟในโตเกียว, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจค้าปลีก ปัจจุบัน โตคิว กรุ๊ป จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในประเทศญี่ปุ่น และมีมูลค่าบริษัทประมาณ 230,000 ล้านบาท
ย้อนกลับไปในปี 1985 โตคิว กรุ๊ป ได้ขยายกิจการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยการเปิดตัวห้างโตคิว (TOKYU) บนทำเลถนนรัชดาภิเษก ก่อนจะย้ายมาใช้พื้นที่ของ MBK โดยเช่าพื้นที่มากถึง 12,000 ตารางเมตร ครอบคลุม พื้นที่ 4 ชั้น ของ MBK
นับตั้งแต่เข้ามาทำกิจการในประเทศไทย ห้างโตคิว (TOKYU) ได้ฝ่าวิกฤติต่างๆของประเทศไทยมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น
ปี 2540 วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของวิกฤติ
ปี 2546 การเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไวรัส SARS
ปี 2547 การระบาดของโรคไข้หวัดนก
ปี 2549 เหตุการณ์รัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครอง
ปี 2556 วิกฤติการเมืองไทย และเหตุการณ์ “Shutdown Bangkok”
ในปี 2558 โตคิว ตัดสินใจขยายสาขาไปที่ “พาราไดซ์ พาร์ค” บนถนนศรีนครินทร์ แต่ก็ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องถึง 3 ปีซ้อน จนต้องปิดกิจการไปหลังจากเปิดบริการได้เพียง 4 ปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากห้างสรรพสินค้าแล้ว การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกมีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการเกิดขึ้นของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (Hypermarket), ร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง (Specialty stores), คอมมิวนิตี้มอลล์, ร้านขายสินค้าปลอดภาษีอากร (Duty-free) และ Outlet ขายของลดราคาจำนวนมาก ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปจาก ห้างโตคิว (TOKYU) ไม่น้อย
รวมทั้งการเข้ามาของตลาดออนไลน์ที่นับวันจะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และดึงกำลังซื้อของผู้บริโภคไปอยู่บนแพลตฟร์อม “อี-คอมเมิร์ซ” โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์จากเหตุการณ์โควิด-19ที่ผ่านมา ซึ่งดันให้ยอดขาย“อี-คอมเมิร์ซ” เติบโตมหาศาล
ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าต่างๆต้องปิดบริการบางโซนตามคำสั่งของรัฐบาล และมาตราการ Work from home ซึ่งทำให้คนเดินทางไปจับจ่ายที่ห้างสรรพสินค้าน้อยลงกว่าเดิม ส่งผลโดยตรงให้ห้างสรรพสินค้าและผู้เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า รวมทั้ง จาก ห้างโตคิว (TOKYU) รายได้น้อยลงไปด้วย ขณะเดียวกันยังต้องแบกภาระต้นทุน ทั้งค่าเช่าพื้นที่หรือค่าจ้างพนักงานประจำ ส่งผลให้ผลประกอบการติดลบ
อย่างไรก็ตาม หากกลับมาย้อนดูผลประกอบการของ จาก ห้างโตคิว (TOKYU) จะเห็นว่า มีการขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน
ปี 2560 มีรายได้ 1,291 ล้านบาท ขาดทุน 288 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 1,238 ล้านบาท ขาดทุน 90 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 1,141 ล้านบาท ขาดทุน 194 ล้านบาท
ด้วยปัญหาการขาดทุนสะสม บวกกับ สถานการณ์โควิด ที่เข้ามากระทบ ทำให้ในที่สุด จาก ห้างโตคิว (TOKYU) ตัดสินใจ เลิกกิจการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยจะเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 เป็นวันสุดท้าย ปิดตำนานห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยไปอีกราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“โตคิว” ลดหนัก 80% ปิดฉากธุรกิจในไทย 31ม.ค.นี้ (ประมวลภาพ)
ส่องโปรเด็ด"โตคิว"ลดสูงสุด80%ก่อนโบกมือลาประเทศไทย
นับถอยหลัง “โตคิว” ซาโยนาระ 31 ม.ค. นี้ โล๊ะส่งท้าย 80%
MBK ยันมีแผน พร้อมพัฒนาพื้นที่ห้างหลัง “โตคิว” ถอนออก
อวสาน 35 ปี “โตคิว” ห้างสายพันธุ์ญี่ปุ่น ปิดกิจการในไทย ม.ค. 64