ลุยตั้งสนง.พืชเศรษฐกิจฯ นำร่อง"กัญชา" ชิงเค้กตลาดโลก 30 ล้านล้าน

06 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

ขีดเส้น 180 วัน ก.เกษตรฯ ตั้งไข่จัดตั้ง “สำนักงานพืชเศรษฐกิจแห่งชาติ” ให้แล้วเสร็จ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งสำนักงานพืชเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. .... ผู้เสนอร่างฯ ฝันนำร่องสินค้าแปรรูปจากกัญชา ตีตลาดโลก 30 ล้านล้านบาท หวังแบ่งเค้กเข้าประเทศ 10% ค่า 3.3 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับแจ้งจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า ได้รับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งสำนักงานพืชเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. .... แล้ว และได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็น ล่าสุดเรื่องอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น 

นายเฉลิมชัย สมมุ่ง ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. บัญญัติจัดตั้งสำนักงานพืชเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. ....มีรายชื่อผู้สนับสนุนจำนวนกว่า 1.5 หมื่นราย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาเหตุที่เสนอร่างฯ เนื่องจากที่ผ่านมา “กัญชา” เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคหลายชนิด ตามตำรับยาแผนโบราณและตำรายาแพทย์แผนไทย แต่ทางกลับกันกัญชาได้กลายเป็นยาเสพติดประเภท 5 จนถึงปัจจุบัน 

ทั้งนี้แม้จะมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขหลายฉบับ ให้สารองค์ประกอบในกัญชา อาทิ สาร CBD และ THC สามารถใช้รักษาโรคได้ และยังให้สถาบันการศึกษาร่วมกับวิสาหกิจชุมชน สามารถปลูกกัญชา เพื่องานวิจัยและพัฒนานำมารักษาโรคได้ แต่ประกาศดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีส่วนร่วมมากนัก ทำให้เกิดความเหลื่อมลํ้าทางสังคมอย่างมาก

ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้ “กัญชา” ไทย เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ โดยประชาชนชาวไทยมีส่วนร่วม จึงเห็นควรให้จัดตั้งสำนักงานพืชเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมพืชเศรษฐกิจที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทยและเป็นสมุนไพรไทย อาทิ กัญชา และพืชสมุนไพรอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์ในทางยาที่มีคุณค่ามากในปัจจุบัน โดยประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปลูกและการผลิตเป็นยา เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย

 

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีทั้งหมด 46 มาตรา  ในบทเฉพาะกาลมาตรา 46 กำหนด ได้ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนงานธุรการของคณะกรรมการ และให้มีการจัดตั้งสำนักงานพืชเศรษฐกิจแห่งชาติ (ส.พ.ศ.ช.) ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน 

 

“บทบาทหน้าที่ของสำนักงานนี้ จะใหญ่กว่ากรม โดยคณะกรรมการพืชเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่บริหาร จะมีทั้งหมด 13 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการจากผู้มีความรู้และประสบการณ์สูงเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจด้านการผลิต และอุตสาหกรรมพืชเศรษฐกิจต่อเนื่อง ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 11 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงต่างๆ หรือผู้แทน นอกจากนั้นเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากตัวแทนแพทย์แผนไทย แผนไทยประยุกต์ และวิสาหกิจชุมชน สมาคมส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ” 

 

ส่วนบอร์ดบริการกองทุนส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเงินจะมาจากรัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี อีกส่วนหนึ่งจะมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกต่างประเทศ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการกองทุน มีผู้แทนจากสำนักงบประมาณเป็นประธานกรรมการ และกรรมการ 10 คน ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้แทนจาก ธ.ก.ส. ผู้แทนจากผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ จากผู้ประกอบการเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจ และผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเป็นกรรมการ 

 

มวลค่ารวมพืชเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้จะมีสำนักงานพืชเศรษฐกิจ ประจำจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อประสานงานกำกับดูแล และตรวจสอบศูนย์พืช เศรษฐกิจ ในการกู้ยืมเงิน เงินอุดหนุน เงินชดเชย หรือผลประโยชน์อื่นๆ เข้าบัญชีธนาคารของผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจโดยตรง

อย่างไรก็ดี คณะผู้ร่าง พ.ร.บ.มีเป้าหมายหนึ่งในการจัดตั้งสำนักงานพืชเศรษฐกิจแห่งชาติในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 รวมถึงการสร้างมูลค่าเพื่อส่งออกสินค้าและบริการที่ต่อเนื่องจากพืชกัญชาที่มีมูลค่าในพืชเศรษฐกิจโลกปีละกว่า 30 ล้านล้านบาท หากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายไทยจะสามารถแย่งตลาดโลกได้ขั้นตํ่าประมาณ 10% ของมูลค่าตลาดรวม หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี และในอนาคตสำนักงานแห่งนี้จะรวมพืชสมุนไพรและไม้มีค่ามาบริหารอยู่ในที่เดียวกัน  

ที่มา : หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เฮ  “อิสระ 01” ได้รับรองสายพันธุ์กัญชา ครั้งแรกในไทย

“กัญชา” ปลูกถูกกฎหมาย ก้าวสู่ปีที่2

ปลดล็อก"กัญชา" พ้นยาเสพติด มีผล 15 ธ.ค.63

“กัญชง” พืชเศรษฐกิจใหม่ ปลูกได้ทุกบ้าน เริ่ม 29 ม.ค

ครม.ปลดล็อก"กัญชง" จากยาเสพติด เป็นพืชเศรษฐกิจ