สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) หรือทูตพาณิชย์ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รายงานสถานการณ์ในเมียนมา ณ วันที่ 3 มีนาคม 2564 ว่า UN Human Right Watch และนานาชาติ อาทิ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ยังคงพยายามกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐของเมียนมางดใช้ ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการปะทะกันของ ตำรวจและทหารกับกลุ่มผู้ประท้วง
โดยสหภาพยุโรป(อียู)ได้ประกาศว่า กำลังพิจารณาที่จะออกมาตรการกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เพิ่มเติม ขณะที่สินค้าและธุรกิจที่กองทัพเมียนมาถือหุ้นอยู่เริ่มได้รับผลกระทบ จากการบอยคอตจากประชาชนเมียนมา โดยสินค้าตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา ถูกถอดออกจากชั้นวางสินค้าในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าของชำ เพื่อลดกระแสกดดันจากกลุ่มผู้ประท้วง
จากสถานการณ์การกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศและ นานาชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ประท้วงที่นัดหยุดงาน (Civil Disobedience Movement) ประกอบกับกระแสการบอยคอตสินค้าของกองทัพเมียน มาทำให้ห้างร้านต่าง ๆ ระมัดระวังที่จะไม่เข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง รวมถึงการปะทะกันระหว่างตำรวจและทหารกับกลุ่มผู้ประท้วง ส่งผลต่อบรรยากาศการค้าในเมืองใหญ่ทั่วประเทศเมียนมาเงียบเหงาลงและต้องปิดทำการหรือลดช่วงเวลาในการเปิดทำการลง
สคต. ณ กรุงย่างกุ้ง ระบุว่า จากการสำรวจพบว่าสินค้าไทยยังคงมีวางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าของชำทั่วไป ซึ่งการบอยคอตสินค้าที่เกิดขึ้นนี้เป็นโอกาสของสินค้าไทยในการเข้าไปเป็นสินค้าทดแทนให้กับผู้บริโภคชาวเมียนมาได้