ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยมีการพูดถึง “CPTPP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)” กันอีกครั้งหนึ่ง (ก่อนหน้านี้กลางปี 2563 มีการถกเถียงกันในประเด็น CPTPP กันอย่างเข้มข้น)
ทำไม CPTPP จึงกลายเป็นประเด็นทุกครั้งหากถูกหยิบยกมาพูด เหตุผลเพราะ CPTTP เป็นการค้าเสรีที่มีประเด็นครอบคลุมขอบเขตอย่างกว้างขวางถึง “30 ข้อบท” ซึ่งย่อมทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางเช่นกัน คำว่า “CPTPP” เปลี่ยนชื่อมาแล้ว“3 ครั้ง” โดยจุดเริ่มต้นมาจาก “P4 Agreement” มีผลเมื่อปี 2006 มี 4 ประเทศแถบมหาสมุทรแฟซิฟิกคือ สิงคโปร์ บรูไน ชิลี และนิวซีแลนด์ หรือเรียกว่า “ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPSEP)” ปี 2021 4 ประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจ 940,942 ล้านเหรียญ
ต่อมาในปี 2008 มีอีก 8 ประเทศคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลียเปรู เวียดนาม แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และ เม็กซิโก (ปี 2021 มีขนาดเศรษฐกิจ 33.7 ล้านล้านเหรียญ ทำให้เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก 35 เท่า) รวมเป็น 12 ประเทศได้เข้าร่วมการเจรจา P4 และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ข้อตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement :TPP)” ปี 2021 ทำให้ 12 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจเป็น 34.6 ล้านล้านเหรียญ (36% ของ GDP โลกในขณะที่ RCEP มี GDP 30% ของโลก)
แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปในปี 2017 (ตามคำสั่งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์) จึงถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น “CPTPP” ทำให้เหลือสมาชิก 11 ประเทศเท่านั้น (GDP รวมเหลือ 12 ล้านล้านเหรียญ เหลือ 12% ของ GDP โลก)
ทั้งนี้ความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 (2018) โดยมีสมาชิก 6 ประเทศที่ผลบังคับแล้วคือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนามมีผลบังคับเมื่อ 14 มกราคม 2562 (2019) หนังสือของ Tomoo Kikuchi, Kensuke Yanagida และ Huong Vo วิเคราะห์ใน “The Effects of Mega-Regional Trade Agreements on Vietnam (2018)” พบว่าประเทศที่จะได้ประโยชน์จาก CPTPP มากที่สุดคือ “มาเลเซีย (GDP เพิ่ม 8.7%)” รองลงมาคือ “เวียดนาม (GDP เพิ่ม 6.5%)”
ในขณะที่บทวิเคราะห์ของ“ADB Brief, December 2020” ประเมินว่าในปี 2030 “CPTPP” จะยังส่งผลทำให้ทั้งมาเลเซียและเวียดนามมีเศรษฐกิจขยายตัวสูงในบรรดาสมาชิกทั้งหมด “(GDP มาเลเซียเพิ่ม 3.1% และ GDP เวียดนามเพิ่ม 2.2%)” ในขณะที่หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้ GDP จะขยายตัว “ร้อยละ 0.12 (คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท)” (อินโพเควสท์ 23 มิ.ย. 2563)
ในขณะที่รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสาหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร (ตุลาคม 2563) มี “ผลสรุปโดยรวมต่อ CPTPP มี 4 ข้อ” ดังนี้ 1.ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน 2.รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ 3.การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงและ 4.รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า
ขณะนี้ผมกำลังทำวิจัยเรื่อง“โครงการศึกษาเพื่อวิเคราะห์โอกาสและผลกระทบของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP” สนับสนุนวิจัยโดย “สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)” วัตถุประสงค์หลักเพื่อวิเคราะห์ว่า หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP การค้าสินค้าเกษตรและแปรรูประหว่างไทยกับเวียดนาม “ไทยแข่งขันได้หรือไม่?”
ผมพบว่าในแต่ละปีเวียดนามผลิตสินค้าเกษตร 140 ล้านตัน (ไทยผลิต 180 ล้านตัน) โดยข้าวร้อยละ 30 ตามด้วยผลไม้ร้อยละ25% ผักร้อยละ 12% และกาแฟร้อยละ 2% ในขณะที่ยางพาราเวียดนามผลิตไม่มากนัก ส่วนการค้าสินค้าเกษตรและแปรรูประหว่างไทยกับเวียดนามพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2563) ไทยได้ดุลการค้ากับเวียดนามโดยตลอด (ปีละ 1,000 ล้านเหรียญ) แต่ “เป็นการได้ดุลการค้าที่เริ่มลดลง” และเมื่อวิเคราะห์ถึงศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตรและแปรรูปของไทยในตลาดเวียดนามพบว่า กลุ่มสินค้าผลไม้สดมีศักยภาพการแข่งขันได้แก่ ทุเรียนและผลไม้สดอื่นๆ สำหรับกลุ่มสินค้าที่ไม่มีศักยภาพซึ่งมีหลายสินค้า ผู้ที่กำลังทำธุรกิจในกลุ่มนี้ “ต้องทำการวิเคราะห์ตลาดเชิงลึก” ทั้งคู่แข่ง ช่องทางการจำหน่าย ต้นทุนการผลิต และราคาขายในตลาดเวียดนามต่อไปครับ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ซีพี”ยันไม่ได้อยู่เบื้องหลังดัน CPTPP
รัฐบาลยังไม่อนุมัติไทยเจรจาเข้าร่วม CPTPP
อัพเดท CPTPP ติดตามความคืบหน้าทุกมิติ ได้ที่นี่