‘เชียงใหม่’ โรยริน โรงงาน SMEs ล้มแล้ว 10%

02 มิ.ย. 2564 | 02:20 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2564 | 02:39 น.

ประธานกกร. เชียงใหม่เผย โควิดทำ SMEs ภาคอุตสาหกรรมปิดกิจการแล้ว 10% สินค้าเพื่อส่งออกเริ่มฟื้นตามตลาดโลก ด้านท่องเที่ยว-ร้านอาหารยังซมไข้หนัก วัคซีนคือ ความหวังเดียว

ประธานกกร. เชียงใหม่เผย โควิดทำ โรงงานSMEs ปิดกิจการแล้ว 10% ขณะที่อุตสาหกรรมเพื่อส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาหาร-เกษตรแปรรูปเริ่มฟื้น จากคำสั่งซื้อต่างประเทศเข้ามาสูง ช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจพื้นที่ ด้านท่องเที่ยว-ร้านอาหารยังซมไข้หนัก วัคซีนคือ ความหวังเดียว

นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบเม.ย. เป็นวิกฤติที่รุนแรงมากสำหรับเชียงใหม่ และเป็นวิกฤติที่มาซ้ำเติมจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความเสียหายไปแล้ว 100,000 ล้านบาท

ระลอกนี้มีชาวเชียงใหม่ติดเชื้อมากขึ้น มีผู้เสียชีวิต หลายครอบครัวรายได้ลด ไม่มีงานทำ ขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ที่สำคัญคือ ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เชียงใหม่และเมืองไทยจะกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ของเชียงใหม่เริ่มดีมียอดลดลง และเป็นไปได้ที่จะเป็นศูนย์ในเวลาอันสั้น และต้องพยายามรักษาไว้ให้ได้ 14 วัน 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน อย่างที่เคยทำมา ควบคู่กับการฉีดวัคซีนที่ต้องผลักดัน ซึ่งเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะต้องทำร่วมกัน เพื่อให้เชียงใหม่กลับมา เลยจากวันนี้ก็ไม่ได้ทำแล้ว ถ้าจะไปรอให้เกิดระบาดรอบ 4 อะไรต่างๆ จะเอาไม่อยู่แล้ว ไม่มีใครรอดแล้ว วัคซีนจึงเป็นความหวังเดียว

 

ส่วนสถานการณ์ผู้ประกอบการเชียงใหม่หรือภาคเหนือเวลานี้มี 2 ส่วน ถ้าเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรแปรรูป กลุ่มนี้ไม่ มีปัญหา เพราะต่างประเทศกลับมาฟื้น ส่งออกดีขึ้น อุตสาหกรรมในส่วนนี้ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่อยู่ 

ส่วนโรงงานที่ผลิตสินค้าขายภายในประเทศกลุ่มนี้ยังหนัก ที่ลำบากมากๆ คือกลุ่มการ์เมนต์ (เสื้อผ้า-สิ่งทอ) เครื่องประดับ รองเท้า หลายแห่งต้องหยุดการผลิต เอาคนงานออก หรือปิดกิจการไปเลย ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน โรงงานใหญ่อย่างโฮย่า เอาคนงานออกประมาณ 40% ส่วนธุรกิจย่อยที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สินค้าพื้นเมือง สินค้าหัตถกรรม ธุรกิจที่ขายของให้นักท่องเที่ยว กลุ่มนี้หมดหนทางเลย จะเห็นว่าถนนช้างคลาน ย่านไนท์บาซาร์ ไม่มีคนเดินเลย เพราะพึ่งพานักท่องเที่ยว

นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่

‘เชียงใหม่’ โรยริน โรงงาน SMEs ล้มแล้ว 10%

มีบางโรงงานบางกิจการที่ผลิต ทั้งเพื่อขายภายในและส่งออก ก็ยังพอได้ส่งออกมาค่อยประคองกิจการไว้ แต่รายที่ไม่ไหวแล้ว ที่เชียงใหม่เวลานี้ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมปิดกิจการไปประมาณ 10% ส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่ได้รับผลกระทบเยอะ ส่วนโรงงานใหญ่ มีหลักทรัพย์พอสมควร ยังขอกู้แบงก์ได้อยู่ ก็ยังพอเดินไปได้ 

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมในเชียงใหม่ชะลอตัวหมด แม้ส่งออกจะมีคำสั่งซื้อกลับมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรค เวลานี้มีประเด็นเรื่องหาตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อส่งออกไม่ได้ ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำให้การส่งออกสินค้าอาหาร-เกษตรแปรรูปไปมากๆ ไม่ได้ โดยปี 2563 ยอดชะลอไปประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี 2562

ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวและ ร้านอาหารยังไม่ไปไหน เวลานี้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ต้องปิดให้บริการไปก่อน การเปิดช่องทางให้เข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลน จะช่วยประคองผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบาก

 

นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่

ประธานสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ทางรอดของอุตสาหกรรมเชียงใหม่เวลานี้คือ ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ เคลียร์วัคซีนให้ได้สำคัญที่สุด เรื่องอื่นจำเป็นน้อยกว่าเยอะ เพราะเอกชนสามารถปรับตัวให้เดินไปได้อยู่แล้ว ถ้ามีวัคซีนก็จะมีลู่ทาง ตอนนี้เรารออย่างเดียวว่า วัคซีนจะมาเร็วที่สุดเมื่อไหร่ ซึ่งภาคเอกชนร่วมทำงานกับอบจ.เชียงใหม่ ผลักดันให้กลุ่มของเครือข่ายภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน ได้เข้าร่วมฉีดวัคซีนในส่วนของกลุ่มองค์กร ที่แยกการบริหารจัดการออกมาเพื่อความชัดเจน

“ภาคเอกชนเราอย่างน้อยมี 200,000 คน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่  สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ ทั้งหมดต้องได้ฉีดทั้ง 100% เพราะมีโอกาสเดียวที่เราจะพลิกเชียงใหม่ ให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ คือ ฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ให้ครอบคลุม” ประธานกกร.เชียงใหม่ กล่าวย้ำ ถึงโอกาสและจุดเปลี่ยนของอนาคตเชียงใหม่ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,684 หน้า 10 วันที่ 3 - 5 มิถุนายน 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง