นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการในคณะอนุกรรมธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระท่อมจัดเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามความใน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งสิ่งเสพติดในประเภท 5 ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม แต่กระท่อมไม่ได้อยู่ในอนุสัญญายาเสพติดโลก แต่กัญชาติดยกเว้นบางประเทศที่ได้อนุญาตให้ใช้ หรือเสพได้ทางการแพทย์
ในภาคใต้กระท่อมเป็นพืชทางวัฒนธรรม สมัยก่อนมีทุกบ้านใส่ถาดวางพร้อมหมากพลู กินฟรีไม่มีซื้อขายอย่างทุกวันนี้ ลอกก้านออกแล้วรูดท่อม เคี้ยวพร้อมกาแฟและน้ำร้อน ที่เรียกว่า "หวนท่อม" ซึ่งจัดเป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณทางยา เป็นยาแก้ไอ แก้ท้องเสีย ลดความดัน ลดเบาหวาน ทำงานขยันและสู้แดดได้อย่างอดทน ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดื่มพลังงาน หรือสิ่งเสพติดที่เป็นเคมี จะด้วยเหตุที่กระท่อมเป็นคู่แข่งของเหล้า บุหรี่ และเครื่องดื่มพลังงานหรือเปล่า อาจทำให้นายทุนผูกขาดผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่แฮปปี้ และรัฐบาลก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ จึงเป็นที่มาของการจับกุม ปราบปราม
พืชกระท่อมถูกสร้างมายาคติเรื่องน้ำกระท่อม หรือ 4×100 อย่างผิดๆ ทั้งที่ผลเสียมาจากการผสมยาแก้ไอที่มีโคเดอีน จนพืชกระท่อมกลายเป็นเหมือนปีศาจร้าย ทั้งที่คนกินกระท่อมไม่เคยเมาอาละวาดแบบเหล้าแล้วไปทำร้ายใคร กระท่อมไม่เคยพ่นควันแบบบุหรี่ที่ทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง กระท่อมกินแล้วขยันทำงานและมีประโยชน์มากกว่าเครื่องดื่มเพิ่มพลังงาน
นายสุนทร กล่าวยืนยันว่า วันนี้เป็นโอกาสทางนิติบัญญัติที่จะแก้ไขให้เป็นจริงแล้วการ"หวนท่อม" หรือการเคี้ยวกระท่อม คือวิถีวัฒนธรรมของชาวสวนยางภาคใต้ เพราะกระท่อมเป็นพืชสมุนไพรและเป็นยาชูกำลังตามธรรมชาติที่ไม่ต้องซื้อหา ซึ่ง ผลมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาพืชกระท่อม ที่มีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ มีมติดังต่อไปนี้คือ
1.เชิญ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าชี้แจงข้อมูลเรื่องการบังคับใช้กฏหมาย การจับกุมผู้กินใบกระท่อม เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลพินิจผ่อนปรน หรืออนุโลมการจับกุมผู้กินใบกระท่อม และพกพาใบกระท่อมคนละไม่เกิน 20 ใบ ส่วนกรณีการต้มน้ำกระท่อม 4 × 100 หรือการขนส่งใบกระท่อมจำนวนมากขอให้จับกลุ่มบังคับใช้กฎหมายตามปกติ
2.เชิญนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าให้ข้อมูลความคืบหน้าการลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) ระหว่าง2กระทรวง เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายยาเสพติด การปลดพืชกระท่อมออกจากยาบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท5 และการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ด้วย
3.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปลดล็อกพืชกระท่อม เช่น สมาคมพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย,สมัชชาพืชกระท่อมแห่งชาติ,สำนักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,สภาเกษตรกรแห่งชาติ,องค์การเภสัชกรรม,คณะกรรมการอาหารและยา,กรมวิชาการเกษตร,กรม ทรัพย์สินทางปัญญา,สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดฯลฯ
4.คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกภูมิภาค โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้บริโภคพืชใบกระท่อมเป็นสำคัญซึ่งคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ จะเร่งศึกษาปัญหาพืชกระท่อมทั้งระบบ ตั้งแต่การปลดล๊อกพืชกระท่อม การส่งเสริมปลูกพืชกระท่อม และการแปรรูปพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า ซึ่งจะมีข้อสรุปภายในวันที่ 24 มีนาคม 2563 นี้ และจะผลักดันแก้ไขกฎหมายปลดล็อคกัญชากัญชง และพืชกระท่อมให้สำเร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 อย่างแน่นอน
เอกสารแนบ