มะกันสั่งสอบเอดี ทุบยางรถ 8 หมื่นล้าน เล็งเป้าค่ายยางรถยนต์จีน

22 พ.ค. 2563 | 11:00 น.

สหรัฐฯเปิดไต่สวนไทยทุ่มตลาดยางรถยนต์ ส่งออก 8.2 หมื่นล้านส่อวูบ เอกชนชี้เป้าใหญ่เล็งเล่นงานค่ายยางรถยนต์จีนใช้ไทยเป็นฐานผลิตดันตัวเลขพุ่ง กระทบชิ่งค่ายไทยเดือดร้อนตาม คต.ตีปี๊บเอกชนเตรียมข้อมูลแก้ต่างรายบริษัท คาดเจอภาษีสูงกว่า 87%

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ณ นครชิคาโกรายงานว่า สหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐฯ(USW) ได้ยื่นเรื่องฟ้องในนามสมาชิกผู้ใช้แรงงานของโรงงานผลิตยางรถยนต์สหรัฐฯ 5 ราย

คือ Goodyear, Cooper Tire, Michelin, Sumitomo และ Yokohama รวม 9 โรงงาน ต่อกรรมาธิการการค้าระหว่าง
ประเทศ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ฟ้องแหล่งการผลิตและนำเข้า 4 แห่ง ประกอบด้วย ไทย เกาหลีใต้ เวียดนาม และไต้หวัน ในข้อหาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD & CVD) สินค้ายางรถยนต์ ซึ่งกรรมาธิการการค้าฯได้รับเรื่อง และเตรียมเปิดไต่สวน

 

-ไทยแหล่งนำเข้าอันดับ 1

สหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐฯระบุว่า การนำเข้ามีนัยสำคัญต่อการทุ่มตลาด โดยการนำเข้ายางรถยนต์จากทั้ง 4 แหล่ง มีอัตราการขยายตัวสูงประมาณ 20% ในช่วงระหว่างปี 2560-2562 หรือมีจำนวน 85.3 ล้านเส้นคิดเป็นมูลค่า 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยางรถยนต์ที่ระบุในคำฟ้องคือยางรถยนต์ส่วนบุคคล และยางรถบรรทุกขนาดเบาทั้งที่ใช้ยางในและไม่ใช้ยางใน ตามพิกัดศุลกากร HTSUS 10 หลักกว่า 23 พิกัด ซึ่งตามคำฟ้องระบุอัตราการทุ่มตลาดของไทยอยู่ในระดับสูงสุดประมาณ 106-217.5% จากในปี 2562 ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญที่สุดมีสัดส่วนตลาด 20.76%  มีมูลค่าการนำเข้า 2,592.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (82,944 ล้านบาท คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)

สำหรับยางรถยนต์ที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยในปี 2562  สัดส่วนเกือบ 50% ผลิตโดยบริษัทลงทุนจากจีน เช่น LLIT, Zhongce, Maxxis, Sentury Tire เป็นต้น จากบริษัทที่เป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าระหว่างบริษัทแม่ในสหรัฐฯและบริษัทลูกในไทย เช่น Bridgestone, Goodyear, Michelin, Sumitomo, Yokohama สัดส่วน 30% และอีก 20% เป็นบริษัทสัญชาติไทย อาทิ Dee Stone, Vee Rubber และ Otani

 

-กระทบส่งออก 8.2 หมื่นล.

นายชัยสิทธิ์  สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดไต่สวนและใช้มาตรการเอดีจะกระทบต่อการส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปสหรัฐฯที่อาจลดลง จากในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐฯมูลค่ากว่า 8.24 หมื่นล้านบาท (สัดส่วน 46% ของการส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปทั่วโลกในปี 2562 ที่มีมูลค่า 1.78 แสนล้านบาท) โอกาสที่ไทยจะไม่ถูกใช้มาตรการเอดีคงยาก ผลจากมีผู้ผลิตยางรถยนต์จากจีนหลายค่ายได้ย้าย/ขยายฐานการผลิตมายังไทย หลังในปี 2558 สหรัฐฯได้ขึ้นภาษียางรถยนต์จากจีน (สูงถึง 87.99%) และได้มาใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ ทำให้ตัวเลขการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นสูงมาก

มะกันสั่งสอบเอดี  ทุบยางรถ 8 หมื่นล้าน เล็งเป้าค่ายยางรถยนต์จีน

“นอกจากผู้ประกอบการจีนที่จะกระทบแล้ว ผู้ผลิตยางรถยนต์สัญชาติไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ก็จะกระทบด้วยจากที่ผ่านมาตลาดกำลังไปได้ดี ซึ่งกลุ่มนี้ย้ายฐานยาก ขณะที่ผู้ประกอบการจีนสามารถย้ายฐานไปอินโดนีเซีย หรือมาเลเซียที่ไม่ถูกใช้มาตรการเอดีได้ ในเบื้องต้นนี้ผู้ประกอบการแต่ละโรงงานต้องเตรียมข้อมูลและหลักฐานยื่นให้กับทางสหรัฐฯพิจารณาในการไต่สวน และต้องตอบคำถามสหรัฐฯที่จะมีแบบฟอร์มเอดีพิสูจน์ต้นทุนการผลิต ส่วนประกอบ กำลังการผลิต ข้อมูลการส่งออกไปสหรัฐฯ ข้อมูลราคาขายในสหรัฐฯ เทียบกับราคาขายในไทยและในตลาดอื่นๆ  เป็นต้น”

อย่างไรก็ดีหากไทยถูกเก็บภาษีเอดียางรถยนต์คาดอัตราสูงสุดน่าจะใกล้เคียงกับจีนที่ถูกสหรัฐฯเก็บภาษีที่ 87.99%  คาดจะทราบผลไม่ต่ำกว่าครึ่งปีนับจากนี้ ซึ่งโอกาสรอดของไทยในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ คงยาก ทางออกคือผู้ประกอบการต้องหาตลาดอื่นเสริม

 

-จับตาค่ายจีนย้ายฐาน

นายหลักชัย  กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่จากจีนมาลงทุนในไทยหลายราย เช่น จงเช่อรับเบอร์, LLIT(หลิงหลง),เซนจูรี่ไทร์,หว่าอี้กรุ๊ป, เจนเนอรัลรับเบอร์ ใช้ยางพาราไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตรวมประมาณ 4.5 แสนตันต่อปี หากการส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐฯลดลงจะมีผลต่อการใช้ยางพารา รวมถึงผลต่อการลงทุนยางรถยนต์รายใหม่จากจีนที่จะพิจารณาฐานลงทุนใหม่แทนไทย

ด้านนายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)  เผยว่า กรมได้แจ้งเรื่องและอยู่ระหว่างประสานกับผู้ผลิตส่งออกยางรถยนต์ในไทยเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมการเปิดไต่สวนเอดี/ซีวีดีของสหรัฐฯ ที่จะส่งแบบสอบถามมาให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกตอบ หลังจากนั้นทางสหรัฐจะนำข้อมูลที่ได้กลับไปวิเคราะห์ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศหรือไม่  โดยขั้นตอนการไต่สวนมีระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,576 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563