จากที่สภาผู้แทนราษฎรได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ( เมื่อ 11 มิ.ย.2563) จากมีความเห็นต่างจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในหลายประเด็นที่ยังคลุมเครือว่าไทยจะได้มากกว่าเสียจากการเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก CPTPP จริงหรือไม่ ล่าสุดการพิจารณาศึกษาได้ครบกำหนดและสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563
นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตลอดระยะเวลานานกว่า 4 เดือนเต็มที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ชุดใหญ่ และคณะอนุกรรมาธิการ 3 คณะย่อย ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเมล็ดพันธุ์และการเกษตร, คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์ และสาธารณสุข และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ได้ร่วมหารือลงลึกในรายละเอียดกันอย่างเข้มข้น
ล่าสุดได้ข้อสรุปครบทุกด้านแล้ว ซึ่งจะได้จัดพิมพ์เป็นเล่มถึงผลสรุปการพิจารณาศึกษา และจะทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสมัยสามัญของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤศจิกายนนี้(สภาจะเปิดวันที่ 5 พ.ย.63) หากทางกรรมาธิการได้นำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ และสมาชิกได้อภิปราย และลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว ทางคณะกรรมาธิการจะได้ส่งรายงานสรุปผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง CPTPP ที่จะมีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข และเร่งรัดดำเนินการในเรื่องที่ยังเป็นข้อกังวลและจุดอ่อนของไทย ส่วนการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเจรจา CPTPP นั้นอยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจ
สำหรับเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากในคณะกรรมาธิการก่อนหน้านี้ อาทิ ในประเด็นด้านเมล็ดพันธุ์และการเกษตร ตามข้อตกลง CPTPP ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ทำให้เกิดข้อกังวลใจของเกษตรกรว่าจะสามารถนำพันธุ์พืชที่ได้จากการเพาะปลูกพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองเพื่อใช้เมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูกาลถัดไปได้หรือไม่นั้น จากที่กมธ.ได้ศึกษาและได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง UPOV เป็นที่ชัดเจนว่าเกษตรกรสามารถทำได้ หากใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการเพาะปลูกเอง นำไปปลูกต่อไม่มีปัญหา และการปลูกเพื่อขายยังชีพก็สามารถทำได้ เพราะไม่กระทบบริษัทผู้ผลิตเจ้าของพันธุ์หรือเจ้าของสิทธินักปรับปรุงพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นนำพันธุ์เขาไปพัฒนาต่อและขายแข่งเชิงพาณิชย์ไม่สามารถทำได้ และอาจถูกฟ้องร้องได้หากไม่ได้รับอนุญาต
“ตั้งแต่มี UPOV 1991 มา 30 ปี ไม่ปรากฏมีการฟ้องร้องเกษตรกรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ที่เขาอยากให้เราเข้าร่วม เขาบอกไม่เคยมีใครฟ้องร้องเกษตร เพราะถ้าไม่รุนแรงจริง เขาฟ้องไปมีแต่จะเสีย คนก็จะไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์ของเขา ดูแล้วเกษตรกรไม่น่าเป็นห่วง ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่า หากไม่นำเมล็ดพันธุ์ที่เจ้าของสิทธิยังได้รับการคุ้มครองไปพัฒนาขายแข่งเชิงการค้าเขาคงไม่ฟ้อง ดังนั้นไม่ต้องกังวล”นายวีระกร กล่าว
ส่วนประเด็นด้านการเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง เช่น การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ) ซึ่งเป็นข้อบทหนึ่งในความตกลง CPTPP ซึ่งปัจจุบันแม้ไทยมีกฎหมายอี-คอมเมิร์ซบังคับใช้แล้ว แต่ในข้อเท็จจริงยังไม่สามารถบังคับใช้ได้กับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ในเรื่องการจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ได้ รวมถึงได้แนะนำให้เพิ่มพิกัดศุลกากรของไทยให้มีความละเอียดขึ้นอีก 2 หลัก เพื่อให้สามารถแยกแยะและบริหารจัดการสินค้านำเข้าได้ละเอียดขึ้นว่าเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้งาน หรือเป็นสินค้าเก่าที่ถูกใช้งานแล้ว เพราะในความตกลง CPTPP ระบุ สินค้าที่ผ่านการใช้งานแล้ว ต้องเปิดให้นำเข้าจากประเทศสมาชิกเข้ามาได้ด้วย การเพิ่มพิกัดศุลกากรอีก 2 หลักจะช่วยเพิ่มความละเอียดในการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามา
“ที่เรามองเลยไปข้างหน้าก็คือ ไม่ช้าก็เร็ว ไทยต้องเข้าร่วมเอฟทีเอมาตรฐานสูงอย่าง CPTPP หรือไม่ว่าจะเป็นไทย-อียูที่เรากำลังจะฟื้นการเจรจา ถามว่าทำไมเราต้องเข้า ตอบได้เลยวันนี้ประเทศไทยล้าหลังไปมาก เพราะตั้งแต่ปี 2556 หรือกว่า 7 ปีมาแล้ว ไทยไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาที่จะเข้าสู่เอฟทีเอใหม่ ๆ เลย เรายังย่ำอยู่กับเอฟทีเอที่มีอยู่กับ 18 ประเทศ ขณะที่ช่วง 6-7 ปีมานี้ เวียดนามกระโดดข้ามเราไปแล้ว การลงทุนโดยตรงจากประทศ (FDI) ก็แซงหน้าไทยไปแล้ว จากเขามีเอฟทีเอกับ 53 ประเทศ ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนเขาก็ต้องมองว่าจะลงทุนผลิตในไทยหรือเวียดนามจะดีกว่ากัน ถ้าผลิตในเวียดนามเขาสามารถผลิตสินค้าและเอาไปขายได้โดยไม่ต้องเสียภาษีใน 53 ประเทศ แต่ถ้าผลิตในไทยสามารถส่งไปขายโดยไม่มีภาษีเพียง 18 ประเทศ”
ดังนั้นมองว่าในอนาคตไม่ช้านี้ ไทยต้องมีเอฟทีเอกับคู่ค้ามากกว่าในปัจจุบัน และเอฟทีเอที่ไทยจะเข้าส่วนใหญ่ก็พัฒนาเป็นเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง เพราะฉะนั้น อยากจะบอกว่าอย่าไปกังวลเกินเหตุ กรรมาธิการฯมองว่า ประเทศไทยเราต้องเตรียมความพร้อมโดยเร็ว ซึ่งคำว่า Hi-Standard ส่วนใหญ่จะหมายถึงการปกป้องผู้ผลิตพันธุ์พืชใหม่ การปกป้องผู้ที่มีการวิจัยและพัฒนา(อาร์ แอนด์ ดี) ที่ดีกว่า
“อย่างไรก็ดีจากที่ประมวลภาพรวมแล้ว พบว่าการทำอาร์ แอนด์ ดี ของไทยเพื่อแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในโลกมีอยู่เซ็กเตอร์เดียวที่ไทยสู้ได้ และเราสามารถยืนอยู่ในโลกของความเป็นเอฟทีเอมาตรฐานสูงได้คือ อาร์ แอนด์ ดีทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องการเกษตร ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนงานวิจัยด้านนี้ ไม่ใช่มาลดทอนงบด้านวิจัยลงทุกปี อะไรที่เป็นการวิจัยขึ้นหิ้งต้องลดลง”
นายวีระกร กล่าวอีกว่า ภาครัฐหลาย ๆ ประเทศในโลก ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น พันธุ์พืชของญี่ปุ่นที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เป็นพันธุ์พืชที่รัฐบาลเขาผลิตเองประมาณ 60% หรือเกือบ 70% เพราะฉะนั้นไทยต้องพัฒนาพันธุ์พืชของเราจนเป็น “หนึ่ง”ให้ได้ หรืออย่างน้อยต้องสู้เขาได้ เมื่อเราเข้าสู่เอฟทีเอมาตรฐานสูง แทนที่เราไปกลัวเขา เขาต้องกลัวเรา จากเราจะมีพันธุ์ที่เหนือกว่าคนอื่น หากเร่งงานวิจัยและพัฒนาด้านพันธุ์พืช หรืองานวิจัยที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพืชต่าง ๆ ที่เราสู้ได้ เพราะไทยมีนักวิจัย และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น หากสามารถพัฒนาพันธุข้าวที่ให้ผลิตสูงถึง 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ได้ การเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV 1991 ก็ไม่ต้องกลัว ในทางตรงข้ามเราสามารถเอาพันธุ์ข้าวไปผลิตเพื่อการค้าและขายทั่วโลกได้
“ล่าสุดที่เราประชุมกันร่วมกับสภาพัฒน์และสำนักงบประมาณ(8 ต.ค.63) ทางกรรมาธิการฯ ได้ขอความร่วมมือทั้งสองหน่วยงาน ต้องเร่งอัดฉีดงบประมาณเพื่องานวิจัยด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น ส่วนงานวิจัยด้านอื่นให้ไปกระตุ้นภาคเอกชนให้เป็นคนทำดีกว่า”
นายวีระกร กล่าวตอนท้ายว่า ไทยไม่ควรกังวลเรื่อง CPTPP มาก เพราะหากในประเด็นใดที่มีความอ่อนไหว ไทยสามารถเจรจากับประเทศสมาชิกเดิม เพื่อขอผ่อนผันขยายเวลา หรือยกเว้นการบังคับใช้ชั่วคราวได้ เช่นในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐที่ในความตกลง CPTPP ต้องเปิดให้ผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกเข้าประมูลแข่งขันได้อย่างเสรีและเท่าเทียมกัน หากเห็นว่าจะกระทบผู้ประกอบการในประเทศจะเสียเปรียบมากก็อาจขอขยายเวลาการบังคับใช้ความตกลงในประเด็นนี้ได้ ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกัน
“มองไปข้างหน้าหากรัฐบาลเห็นควรเข้าร่วมเจรจา CPTPP และเมื่อเจรจาแล้วเสร็จก็ต้องนำเสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมความตกลงอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามแนวทางที่กรรมาธิการฯได้ศึกษาไว้ ทั้งในเรื่องที่เป็นข้อกังวล หรือข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข ที่เมื่อเข้าร่วมความตกลงแล้วเราต้องได้มากกว่าเสีย และไม่เสียเปรียบเกินไป หากเป็นไปตามแนวทางที่เราศึกษาก็มีโอกาสที่สภาจะอนุมัติให้เข้าร่วมความตกลงได้ในอนาคต”
อนึ่ง ความตกลง CPTPP ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยสมาชิกได้ลงนามความตกลงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี และความตกลงได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต<วันที่ 30 ธันวาคม 2561>่วันที่ 30 ธันวาคม 2561
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.ชงหมื่นล้านจัดระเบียบพันธุ์พืช ก่อนร่วม CPTPP
“CPTPP” เปิดคำชี้แจง 6 หน่วยงาน ก.เกษตรฯ
ถก CPTPP ข้อกังวลอื้อ หวั่นเสียเปรียบ |