เชิญผู้มีส่วนได้-เสียหารือ จีน-อินโดฯ-มาเลย์ทุ่มตลาด“บีโอพีพี”

16 พ.ย. 2563 | 08:58 น.

กรมการค้าต่างประเทศ เชิญผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากทุ่มตลาด “บีโอพีพี” จากจีน อินโดฯ และมาเลย์ รวมถึงอุตสาหกรรมภายในและผู้บริโภคหารือ ชั่งน้ำหนักผลดี-ผลเสียก่อนใช้มาตรการเอดี

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 กรมการค้าต่างประเทศได้เชิญผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ หากจะมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรลีน (บีโอพีพี) เกรดทั่วไป ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทั้งอุตสาหกรรมภายใน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และผู้บริโภค เข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เหตุผลที่ไม่ต้องการให้มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) รวมถึงให้ข้อเสนอแนะ และมาตรการเยียวยาที่ผู้ประกอบการต้องการ

เชิญผู้มีส่วนได้-เสียหารือ  จีน-อินโดฯ-มาเลย์ทุ่มตลาด“บีโอพีพี”

 ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้ประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบีโอพีพีเกรดทั่วไป ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย หลังจากที่ผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งมีอยู่เพียงรายเดียว ได้ร้องขอให้มีการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) พิจารณา


 

ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี ประมาณ 100 ราย กำลังจะทำเรื่องร้องเรียนต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน ทตอ. ให้พิจารณากรณีการขึ้นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) อย่างรอบคอบ เพราะจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้ฟิล์มบีโอพีพีเป็นวัตถุดิบ ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะกระทบต่อเนื่องถึงผู้บริโภคที่จะต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น

 

สาเหตุที่คัดค้านการขึ้นภาษีเอดี เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก ทั้งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน เทปกาว สติกเกอร์ เคลือบกระดาษ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ฟิล์มบีโอพีพี เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ ของใช้ส่วนบุคคล ของใช้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจปีละกว่า 1 แสนล้านบาทจะได้รับผลกระทบ และหากมีผลกระทบหรือไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ก็จะส่งผลต่อการจ้างงานในระบบ ทำให้มีปัญหาแรงงาน ตกงานเพิ่มขึ้นได้

 

สำหรับสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน และส่วนใหญ่มีราคาไม่สูงมาก เช่น ซองใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองขนมปัง ซองขนมขบเคี้ยว ซองลูกอม ซองใส่หน้ากากอนามัย ซองใส่ถุงมือ ซองใส่เสื้อผ้า ซองใส่ถุงยางอนามัย ซองใส่ผงเกลือแร่ ซองใส่เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ฉลากน้ำดื่ม และฉลากน้ำมันพืช เป็นต้น