จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. แถลง พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 516 ราย ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 576 ราย (ณ เวลา 13.00 น.วันที่ 20 ธ.ค.63)โดยมากกว่า 90 % เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว
ขณะเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ผู้กํากับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรสาครได้มีคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว 27 สถานที่ในจังหวัด และห้ามประชาชนออกจากเคหะสถานในเวลา 22.00 น. -5.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 21.00 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2564 หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง รวมถึงสั่งปิดตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร และหอพักศรีเมือง ตําบลมหาชัย อําเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีแรงงานต่างด้าวที่มาประกอบอาชีพเป็นจํานวนมาก ซึ่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มดังกล่าวนั้น
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มหาชัย”ถือเป็นเมืองหลวงอาหารทะเลของโลก โดยเฉพาะมีโรงงานทูน่ากระป๋อง และผลิตภัณฑ์ทูน่า รวมถึงโรงงานแปรรูปกุ้งมากสุดและใหญ่สุดของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิด Timeline ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 576 ราย
“กุ้ง” โดนหางเลขโควิด ทุบราคาร่วง ไม่น้อยกว่า 20 บาท/กก.
โควิดสมุทรสาคร พ่นพิษ “ออมสิน” สั่งปิด 2 สาขาชั่วคราว
เปิดคำสั่ง"ล็อกดาวน์สมุทรสาคร" สกัดโควิด-19
ปิดตายห้ามเข้าออก"ตลาดกลางกุ้ง"มหาชัย
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากโควิดจำนวนมากในจังหวัดสมุทรสาคร โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวนั้น ในวันจันทร์(21 ธ.ค.2563)นี้สถานประกอบการแต่ละบริษัทในพื้นที่คงมีการหารือกันภายในถึงผลกระทบ รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการออกมาตรการป้องกันโควิดในโรงงาน จากที่เวลานี้ยังไม่มีคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครให้มีการปิดโรงงานในพื้นที่ชั่วคราวแต่อย่างใด และคาดในกลางสัปดาห์(วันอังคารหรือวันพุธ)ในส่วนของกรรมการสมาคมฯจะมีการหารือกันเพื่อประเมินสถานการณ์ และจะมีมาตรการในการคุ้มเข้มเพิ่มเติมอย่างไรในส่วนของโรงงานทูน่ากว่า 20 โรง จากที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แต่ละโรงงานต่างมีมาตรการป้องกันกันอย่างเต็มที่อยู่แล้วทั้งในส่วนของคนงาน/พนักงาน รวมถึงสินค้าที่ผลิตไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อโควิด
ชนินทร์ ชลิศราพงศ์
“ถามว่าตอนนี้เราซีเรียสหรือไม่ก็ซีเรียส เพราะแรงงานที่ใช้ในอุตสาหกรรม ณ ปัจจุบัน 90% เป็นแรงงานต่างด้าว แต่ก็ไม่อยากให้ตื่นตระหนก ซึ่งการแพร่เชื้อนี้มองว่าคงติดมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบหรือหนีเข้ามาตามตะเข็บชายแดนแล้วมาติดคนงานในพื้นที่ที่อยู่กันเป็นชุมชนซึ่งก็ป้องกันลำบาก แต่เดี๋ยวจะดูว่าและโรงงานจะมีมาตรการป้องกันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพขั้นสูงสุด หรือจะออกมาตรการอะไรเพิ่มเติมให้มีความเข้มข้นล้อไปกับมาตรการของภาครัฐ
ดูคลิปมาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมทูน่าได้ที่นี่
สำหรับแรงงานต่างด้าวในสมุทรสาครในทุกอุตสาหกรรมรวมกันคาดว่าน่าจะมีมากกว่า 2 แสนคน ซึ่งเหตุการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้นและทางจังหวัดสั่งให้มีการล็อกดาวน์ และประกาศเคอร์ฟิว มองว่าทำถูกต้องแล้ว เพราะถือเป็นความจำเป็น อย่างไรก็ดีทุกโรงงานยังเดินหน้าทำการผลิตและส่งออกต่อเนื่อง เพราะหากหยุดจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ และการส่งออกที่ต้องมีการส่งมอบสินค้าช่วงปลายปี
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวสั้น ๆ ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สมุทรสาคร จะขอดูเหตุการณ์วันนี้(20 ธ.ค.2563)ก่อน เพราะวานนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นมาสูงมากกว่า 500 คน ทั้งนี้การปิดตลาดกุ้งทะเลไทย(ตลาดมหาชัย) มองว่าเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าคือแรงงานนำเชื้อเข้ามา
รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เผยว่า ในวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคมนี้ เวลา 13.00 น.นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. และ นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จะร่วมกันแถลงข่าว“แผนรับมือภาคอุตสาหกรรม หลังล็อกดาวน์สมุทรสาคร” ซึ่งรายละเอียดจะได้ติดตามมานำเสนอให้รับทราบต่อไป