นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการได้อ่านบทสัมภาษณ์ของท่านอธิการบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายกีรติ รัชโน เกี่ยวกับเรื่องการส่งออกข้าวไทย ปี 2563 ที่มีปริมาณการส่งออกเหลือเพียง 5.72 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า (ปี 2562) ถึงประมาณ 1.86 ล้านตัน โดยปริมาณการส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาข้าวไทยที่แพงกว่าประเทศคู่แข่งมาก บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า และปัจจัยอื่นๆ นั้น
ทั้งนี้สมาคมชาวนาฯมีความวิตกกังวลว่าในอนาคตจะเป็นเช่นไร เพราะแม้ว่าระยะหลังที่ผ่านมาจะไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรชาวนามากนัก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่มีโครงการชดเชยรายได้และการเยียวยาต่างๆอยู่บ้าง ซึ่งนโยบายเยียวยาต่างๆเป็นแค่เพียงระยะสั้น และไม่รับรองว่าเกษตรกรชาวนาจะมีรายได้ที่มากขึ้นในระยะยาว จากตัวเลขที่ท่านอธิบดีฯให้สัมภาษณ์ ตัวเลขรวมการส่งออกข้าวไทย ปี 2563 ลดลงจากปีก่อนหน้า มาเหลือเพียง 5.72 ล้านตัน
หากนำมาเทียบกับตัวเลขปริมาณผลผลิตข้าวเปลือก ปี 2561/62 ประมาณ 32.34 ล้านตันข้าวเปลือก ปี 2562/63 ประมาณ 28.61 ล้านตัน และ ปี 2563/64 ที่ 30.87 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับภาคการส่งออกที่มีปริมาณลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2562 ส่งออกที่ 7.58 ล้านตัน ปี 2563 เหลือเพียง 5.72 ล้านตัน และคาดการณ์ส่งออก ปี 2564 ไว้เพียงที่ประมาณ 6 ล้านตันข้าวสาร
หากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น อินเดียที่กลับมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่สำคัญเวียดนามแม้จะมียอดส่งออกข้าวค่อนข้างคงที่จากปีก่อน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับทั้งตลาดถือว่าปริมาณส่งออกของไทยลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศคู่แข่ง นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเสียส่วนแบ่งตลาดหรือไม่ และหากผู้บริโภคได้บริโภคข้าวจากประเทศคู่แข่งที่ถูกกว่ามากและคุณภาพใกล้เคียง โอกาสที่ไทยจะเอาส่วนแบ่งนั้นคืนอาจจะยากขึ้น
นายปราโมทย์ กล่าวว่า หากมองกลับมาในมุมของรายได้ของเกษตรกรชาวนาจะต้องดูที่รายได้จากผลผลิต/ไร่ เพราะหากดูแค่จำนวนพื้นที่เพาะปลูกรวมที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง หมายถึงรายได้ของเกษตรกรชาวนาโดยรวมทั้งประเทศที่เพิ่มขึ้น/ลดลง แต่ไม่สะท้อนด้านประสิทธิภาพการผลิตข้าวที่แท้จริง (คือผลผลิต/ไร่) ซึ่งต้องยอมรับว่าปริมาณผลผลิต/ไร่ ของไทยนั้นค่อนข้างต่ำจึงทำให้รายได้ของชาวนาไทย/ไร่นั้นต่ำกว่าเวียดนาม
“แม้ว่าราคาขายข้าวสาร/ตันจะแพงกว่าคู่แข่งมากก็ตาม ทั้งหมดก็เนื่องมาจากผลผลิต/ไร่ที่ต่ำ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง ส่งผลให้ไม่ว่าปริมาณผลผลิตในประเทศจะมากหรือน้อย รายได้เกษตรกรก็ไม่เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าแม้ในกรณีที่มีภัยแล้ง ผลผลิตข้าวลดลงทำให้ราคาผลผลิตข้าวเปลือกช่วงที่แล้งจะแพงขึ้น ยิ่งดันให้ราคาส่งออกสูงตาม แต่ก็กลับไม่ได้ทำให้รายได้ของเกษตรกรชาวนาโดยรวมดีขึ้นเลย”
ทั้งนี้การที่ราคาขายในตลาดสูง กลับยิ่งทำให้ยิ่งไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อไร่กลับต่ำมาก ซึ่งสวนทางกับราคาขาย วิธีแก้ปัญหานี้ในระยะยาวคือต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยเร่งพัฒนาและรับรองพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ตอบโจทย์ชาวนา ตอบโจทย์ตลาดที่มีความหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรชาวนาในการใช้พันธุ์ข้าวแต่ละชนิด ส่วนภาครัฐสามารถสนับสนุนปัจจัยการผลิตเช่น เมล็ดพันธุ์ และพัฒนาแหล่งน้ำไว้ใช้สำรอง เช่น บ่อบาดาลในช่วงมีภัยแล้ง และแหล่งน้ำสาธารณะที่เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ได้
ขณะนี้มีพันธุ์ข้าวที่ "กรมการข้าว" ได้ถูกรับรองไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา คือ พันธุ์ "กข87" (ข้าวนุ่ม) และ "กข85" (ข้าวพื้นแข็ง) เท่าที่ทราบมาว่าเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูงและต้านทานโรคดีแต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็น พันธุ์เหล่านี้ถูกนำออกมาส่งเสริม หรือจำหน่ายให้ชาวนาได้นำไปเพาะปลูกเลย ซึ่งอาจจะเป็นการเสียโอกาส ในการเลือกให้พันธุ์ข้าว ของเกษตรกรชาวนา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่งออกข้าวสะท้าน ปี 63 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ผวา “สต็อกข้าวท่วม” กดราคาชาวนา
“เราชนะ” เกษตรกร โวย เข้าไม่ถึงโครงการ เยียวยา 7,000 บาท
โรงสี เซ็งข้อมูลข้าวมั่ว ทำคาดการณ์ตลาดพลาด
เซ็น MOU ดึง AI ซื้อขายข้าวเปลือก