วันนี้ (12 ก.พ.2564) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)กับชุมชน 2 กลุ่มในจังหวัดสงขลา เพื่อจัดสร้างโรงตากอาหารทะเลแปรรูปจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณปลาที่จะขายได้มากขึ้นเป็น 2 เท่า ด้วยการลดระยะเวลาในการตากแห้งและยังทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของไทยยูเนี่ยนที่จะตอบแทนให้แก่ชุมชนที่เรามีการดำเนินงานอยู่
ข้อตกลงนี้ได้ทำร่วมกับกลุ่มสตรีแปรรูปอาหารทะเลบ้านนาทับ จังหวัดสงขลา และสมาคมรักษ์ทะเลไทย มีการกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างสามฝ่ายเพื่อปรับปรุงมาตรฐานอาหารปลอดภัย และพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการผลิตสินค้าอาหารทะเลแปรรูป อีกทั้งยังจะร่วมมือกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชุมชนชายฝั่งและการจัดการผลผลิตสัตว์น้ำภายใต้ข้อตกลงนี้ ไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนการสร้างโรงตากอาหารทะเลแปรรูปจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการตากปลาให้กับกลุ่มสตรีแปรรูปอาหารทะเลบ้านนาทับ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาตากแห้งของชุมชน
“ไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นที่จะตอบแทนชุมชนที่เรามีการดำเนินงานอยู่ด้วยการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนเหล่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของเรา หรือ SeaChange® ดังนั้น เราจึงภูมิใจอย่างมากที่ได้เป็นพันธมิตรในโครงการนี้ ซึ่งมีความสำคัญต่อชุมชนมากและสนับสนุนพวกเขาในการพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่มที่หลากหลาย” นายปีเตอร์ แกลลี่ ผู้อำนวยการกลุ่มสื่อสารองค์กร บมจ. ไทยยูเนี่ยน กล่าว “โรงตากอาหารทะเลแปรรูปจากพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสินค้าจากแมลง ลดระยะเวลาในการตากแห้งระยะเวลาการผลิตจากเดิมลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิตด้วย”
นางบีเย๊าะ อำพันนิยม ประธานกลุ่มสตรีแปรรูปอาหารทะเลบ้านนาทับ กล่าวว่า “ชุมชนจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า และสร้างจิตสำนึกเรื่องการทำประมงอย่างยั่งยืน โอกาสที่ชุมชนได้รับมานี้ไม่เพียงจะเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าของเราเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะช่วยให้มีอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย”
นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า เขารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่อย่างไทยยูเนี่ยนตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนประมงพื้นบ้าน และประโยชน์ของการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน “ความยั่งยืนของท้องทะเลจะเกิดขึ้นได้ หากทุกคนตระหนักถึงวิธีการที่ดีที่สุดในการใช้ทรัพยากรในท้องทะเล และการทำประมงโดยไม่ใช่เครื่องมือจับแบบทำลายล้าง โครงการริเริ่มนี้เป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างชุมชนประมงพื้นบ้าน และภาคธุรกิจบริษัทเอกชนที่ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน และคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลเพื่อคงไว้ให้กับลูกหลานของเราต่อไป” นายบรรจงกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กด่วน “เงินช่วยชาวนา” ไร่ละ 500 บาท ลุ้น บอร์ด ธ.ก.ส.อนุมัติ หรือไม่
“อ.ต.ก.” ประกาศสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่
ชงตั้ง กมธ. “เกษตรกร” 60 ปี รับบำนาญ