วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ออกประกาศ เรื่อง การอนุญาตให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางก่อนได้รับอนุมัติการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2564 สาเหตุมาจากมีเงินงบประมาณไม่เพียงพอที่จะให้การปลูกแทนได้ตามเป้าหมายเนื้อที่ที่กำหนด มีเจ้าของสวนยางยื่นขอรับการปลูกแทนเป็นจำนวนมาก จึงต้องรอการขอปลูกแทนในปีต่อ ๆ ไป
แต่เนื่องจากมีเจ้าของสวนยางส่วนหนึ่งที่ได้ยื่นคำขอไว้แล้วมีความประสงค์ที่จะขอโค่นต้นยางเพื่อขายไม้ก่อนได้รับอนุมัติ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสงค์จะโค่นต้นยาง กยท. จึงผ่อนผันให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางก่อนได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนได้ กรณีเจ้าของสวนยางได้รับอนุมัติการปลูกแทนตามปกติ หรือกรณีเจ้าของสวนยางต้องการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อการอื่นไปก่อน เช่น ปลูกพืชล้มลุก หรือพืชระยะสั้น ก็สามารถกระทำได้โดยได้รับการชดเชยในอัตราไร่ละ 1.6 หมื่นบาท
นายจิตติน วิเศษสมบัติ อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กยท. (สร.กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาเหตุที่เงินสนับสนุนโค่นยางปลูกแทนไม่เพียงพอ เพราะเดิมการเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (CESS) จะถูกนำไปใช้ 3 ส่วนหลักคือ 1.วิจัยและพัฒนายางพารา (5%) 2. เป็นค่าบริหาร 10% และ 3. สงเคราะห์เกษตรกรปลูกยางทดแทน (85%) ก็ยังพอมีเงินจ่าย แต่พอมี พ.ร.บ.การยางฯ เงินดังกล่าวได้ถูกจัดสรรแบ่งตาม กองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 แบ่งเป็น 6 มาตรา โค่นปลูกแทนก็เหลือไม่เกิน 40% ที่เหลือก็จัดสรรไปอีก 5 หมวด ทำให้เงินไม่เพียงพอ
“มองว่าอาจจะเกิดการทุจริตขึ้นอย่างมโหฬารจากการผ่อนผันครั้งนี้ เพราะ 1. ไม้ยางขายไปแล้วเท่าไรก็ไม่ทราบ 2.เอาที่ดินเปล่ามาขอปลูกแทน แล้วหากมาขอได้จะเกิดอะไรขึ้น ไหนบอกว่าจะลดพื้นที่ปลูกยางก็ไม่ได้ลด เพราะปลูกพืชอย่างอื่นคุณลงทุนเอง แต่ถ้าปลูกยางพารา รัฐบาลให้เงินลงทุนแล้วเกษตรกร จะเลือกปลูกอะไร นี่คือสิ่งที่น่ากังวลและการทำแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย”
ขณะที่นายมานพ เกื้อรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กยท. (สร.กยท.) กล่าวว่า มาจากกฎหมายทำให้การสงเคราะห์การปลูกแทนต้องปรับเป้าหมายใหม่ ปัจจุบันเหลือเงินในกองนี้ 40% ดังนั้นหากจะขอสงเคราะห์ในอัตราเท่าเดิม อาจจะล่าช้า เกษตรกรจะต้องรอคิว และสามารถให้โค่นก่อนได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร แล้วจะจ่ายเงินสงเคราะห์ในภายหลัง ตนเห็นด้วยกับผู้ว่าฯ กยท. ที่ตัดสินใจวิธีนี้ มองว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้
สอดคล้องกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่กล่าวว่า ใครที่มีเงินก็ปลูกไปก่อน แล้วค่อยมาเอาเงินภายหลังได้มองว่าดีแล้ว เพราะคนที่มีเงิน สามารถออกเงินทุนไปก่อน แต่จะต้องไปรังวัดสำรวจให้เรียบร้อย เมื่อได้รับอนุมัติยืนยันกับ กยท.แน่ชัดแล้วค่อยโค่น ไม่ใช่วัดเสร็จแล้วโค่นเลย ต้องรอหนังสือยืนยันก่อนว่าได้รับอนุมัติแน่ ๆ แต่เงินจะจ่ายเมื่อไรนั้น ก็จะต้องไปเข้าคิวไว้ก่อน
แหล่งข่าวบอร์ด กยท. เผยว่า จัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (CESS) อัตรากิโลกรัมละ 2 บาท ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เก็บเงินได้กว่า 8,518 ล้านบาท ก้าวกระโดดจากปี 2559 (เก็บแบบขั้นบันได 90 สตางค์ถึง 5 บาท/กก.) ที่เก็บได้ 5,538 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการล็อกดาวน์ประเทศ ล็อกดาวน์เมืองท่าขนส่งต่างๆ ทำให้ส่งออกยางได้ลดลง เหลือ 4.46 ล้านตัน เก็บเงินเซสส์ ได้ 7,668 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 คาดจะเก็บเงินเซสส์ ได้ 7,566 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากการส่งออกเชิงปริมาณคาดยังไม่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ดังนั้น กยท.จะต้องทำการค้าขาย เพื่อที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดต่อไป
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร จ่ายส่วนต่าง "ประกันราคายางพารา" งวด 6
เปิดใจ “บอร์ด กยท.” โละสต๊อกขายยาง
ราคายางเด้งรับ “กยท.” เซ็น ขายให้ “นอร์ทอีสรับเบอร์”