ดิ้นหนีตาย แก้วิกฤติ “ข้าว” นัด 14 มิ.ย.

10 มิ.ย. 2564 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2564 | 05:22 น.

​​​​​​​นบข.แฉยับ พ่อค้า ปรับเป็น เทรดเดอร์ ขายข้าวเวียดนาม-อินเดีย แทนข้าวไทยราคาแพง   ขณะ นายกชาวนาฯ  เผย “ประภัตร” นัด “โรงสี-ส่งออก” ผ่าวิกฤติ “ข้าว”  14 มิ.ย.

สุเทพ คงมาก

 

นายสุเทพ คงมาก นายกกิตติมศักดิ์สมาคมเกษตรกรและชาวนา​ไทยและกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในโครงการ “ข้าวอินทรีย์” ยังไม่ได้เงินกันเลย ช้าอยู่ที่กรมการข้าว คือไม่ส่งเอกสาร ไปที่สำนักงบประมาณ ไปอ้างว่าจะต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ทั้งทีจริงไม่ต้องเข้า ครม.แล้ว ในเมื่อ นบข.อนุมัติหมดแล้ว แค่ทำหนังสือไปรับเงินก็จบแล้ว เพราะงบประมาณข้าวอินทรีย์ 9,000 ล้านบาท เพราะครม.จ่ายเป็นงบผูกพันอยู่แล้วไม่ต้องเข้า ครม.ใหม่ แล้วที่สำคัญไม่ถึงกรอบวงเงิน เพราะจ่ายจริงแค่ 6,000 ล้านบาท

 

“ตอนนี้เปลี่ยนอธิบดีกรมการข้าวไป 2 คนแล้ว มาเปลี่ยนรองอธิบดีคนใหม่อีก ตอนนี้ก็พยายามตามให้กับชาวนากลุ่มนี้อยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนการทำนา ลดทำนาอยู่ตลอดเวลา ตัวเลข ที่โชว์เป็นตัวเลขในการรายงานเท่านั้น แต่พื้นที่ปลูกข้าวจริงปลูกไม่ถึง ไม่เช่นนั้นจะเห็นข้าวล้นเมืองไปแล้ว ที่น่าสังเกตผลผลิตตัวเลข ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4.7 ล้านครัวเรือน และ พื้นที่ 70 ล้านไร่ เอามาจากไหน แล้วที่ผ่านมาทำนาไม่ได้ตั้งกี่จังหวัด กี่ลุ่มน้ำ ทั้งทีไม่มีน้ำทำนา แล้วก็มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน อีกด้วย

 

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องราคาข้าว แก้ไม่จบ เพราะการเมืองมาแทรก ข้าราชการเต้นตามนักการเมือง จะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอด ถ้าแก้ให้จบ 1. ต้องทุ่มงบวิจัยพันธุ์ข้าวใช้เวลา 2-3 ปี 5 ปี ต้องหาพันธุ์ใหม่ที่ชาวนาปลูกได้ 1 ไร่ ประมาณ 1,200-1,300 กิโลกรัม อายุสั้น พอได้ผลผลิตมาก ราคาจะไม่แพง ชาวนาขายได้ 6,000-7,000 บาท ขายได้ ผลผลิตมาก มีกำไร แต่ถ้ายังอยู่อย่างนี้ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุน 4,000-5,000 บาท ไปขอรัฐบาลให้อุดหนุนตลอด ไปไม่รอดหรอกประเทศไทยในเรื่องข้าวต้องแพ้ แล้วเรื่องอะไรที่ผู้ส่งออกจะมาซื้อข้าวแพงแล้วตอนนี้วิ่งไป ขายข้าวอินเดีย ขายข้าวเวียดนามไม่ดีกว่าหรือ

ราคาข้าวหอมมะลิ เปรียบเทียบประเทศคู่แข่ง

 

“ถามว่าที่อินเดียขายได้มาก เวียดนามขายได้มากขึ้น ใครเป็นคนขาย ผู้ส่งออกไทยไปขายให้กับประเทศเหล่านี้ วันนี้ผู้ส่งออกไปตั้งโต๊ะอยู่เวียดนาม ผู้ส่งออกไทยเก่งที่สุดในโลก ไปเป็นเทรดเดอร์กันหมดแล้ว ไม่เอาข้าวไทยไปขาย เพราะข้าวไทยแพง คนซื้อไม่สนใจว่าข้าวมาจากไหน แต่คนขายคือคนนี้ ที่ซื้อขายประจำ แล้วมาบอกว่าข้าวไทยขายไม่ได้ แล้วทำไมไม่ช่วยกัน บอกกันตรงๆ ว่าผมไม่ขายข้าวไทย แต่กลับมาบอกว่าขายได้แค่ 4-5 ล้านตัน เพราะผมไม่ขาย ทำไมไม่บอก”

 

นายสุเทพ กล่าวว่า “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2564 ไม่เห็นมีพันธุ์ข้าวใหม่ออกมาสักพันธุ์เดียว  แล้วยังไม่เห็นศูนย์เมล็ดพันธุ์กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์กข85 กับ กข87 เลย ไม่มีสักศูนย์ฯเลย เพราะยังติดปัญหาในเรื่องสอบสวนนักวิจัยอยู่เลย ไปกล่าวหาว่าเอกชนไปทำเยอะ นี่คือปัญหา”

 

ประชุมร่วมฯ คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต

ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย  กล่าวว่า ชาวนาไม่ได้ลดหรอก เราทำเกินอยู่แล้ว แต่มีปัญหา เรื่องน้ำทางกรมชลประทานได้บอกว่าหลังเมษายน ให้ทำนากัน พอกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ชาวนาก็เริ่มทำนา ไป 70-80% ในภาคกลางทำนาแทบทุกจังหวัด แต่ปรากฏว่า ปลูกข้าวมาได้เดือนกว่าๆ น้ำไม่มีแล้ว แห้งขอดหมด

 

“ผมหวั่นว่าในอนาคตจะเป็นการแค่รอน้ำฝนอย่างเดียวเพราะน้ำในเขื่อนไม่มีกักเก็บ  แต่รัฐบาลกลับเอาน้ำในเขื่อนไปทำการไฟฟ้า มากกว่าให้ “เกษตรกร” นี่คือปัญหา ผมมานั่งคิดแล้วว่า จะให้ความสำคัญกับการไฟฟ้ามากกว่าเกษตรกร  ซึ่งก็ยอมรับว่าไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยสี่ แต่ก็ต้องเห็นกับเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ไม่มีน้ำ จบเลย

 

ข้าวจะรอดไหม

 

อย่างไรก็ตามหลายหน่วยงาน รวมทั้งกูรูข้าว ยังมีการคาดการณ์จะได้ข้าวเท่านั้นเท่านี้ คือ คิดไปกันเอง ว่าปีนี้ข้าวจะต้องส่งออก 5-6 ล้านตัน ผมบอกได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะหากเกิดข้าวไม่ได้ผลผลิตอย่างที่คาดการณ์จะส่งออกได้หรือ ส่วนสถานะข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่ได้อยู่ในมือชาวนาแล้ว อยู่ที่โรงสี พ่อค้าหมดแล้ว หากราคาข้าวตกต่ำในช่วงนี้ชาวนาไม่กระทบ

 

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จะมีประชุม 3 สมาคม ฯ ประกอบด้วย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย, สมาคมโรงสีข้าวไทย, สมาคมส่งออกข้าวไทย เรื่องแนวโน้มทิศทางส่งออกข้าวไทย จะถกกันแรงมาก โดยมีคุณประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่งหัวโต๊ะ ผมจะถามเลยว่า เกษตรกรผมเป็นฝ่ายผลิต ผมต้องการอยากทราบว่าต่างประเทศต้องการข้าวพันธ์ไหนชนิดไหน แล้วกรมการข้าวจะต้องผลิตเมล็ดพันธุ์นั้นมา แล้วส่งออกต้องการข้าวพันธุ์ไหนขายได้ หรือ บริโภคในระเทศ ส่วนโรงสีต้องการข้าวพันธุ์ไหน คุณสั่งมา ผมจะทำให้ เกษตรกรผม ผมได้ปฏิวัติ ใหม่

 

“ในขณะนี้สมาคมเดินหน้าโครงการ “ขาณุโมเดล” จำนวน 1.8 หมื่นไร่ กรมการข้าว สนับสนุนข้าว 180 ตัน ชาวนาจะได้ไม่ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์  แต่ผมขอไร่ละ 15 กิโลกรัม ไม่ใช่ 10 กิโลกรัม ที่มาให้ ดังนั้นการที่จะมาห้ามชาวนาผม ห้ามไม่ได้จะมาให้ลดพื้นที่ทำนา  ถ้ามว่าให้ปลูกพืชอื่น ให้ไปปลูกถั่วเขียว สับปะรด แตงโม คุณมีตลาดรองรับให้เกษตรกรผมไหม พอชาวนาหันไปทำกันมาก จะเอาไปเทกองกันบานเลยจะหันมามองไหม  ผมถามแค่นี้”