จับเข่าคุย‘เกรียงศักดิ์’ อนาคตโรงสีข้าวต้องมองนอกกรอบ

03 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
ธุรกิจโรงสีข้าวเป็นหนึ่งในวงจรของอุตสาหกรรมข้าวของไทยที่เติบโตควบคู่มากับกับชาวนาและการส่งออกข้าวของประเทศมาช้านาน เคยรุ่งเรืองในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาจากมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและจ้างโรงสีสีแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่งเข้าคลังกลาง ส่งผลให้โรงสีแข่งลงทุนและขยายการผลิตกันอย่างคึกคัก

ขณะที่เวลานี้ไม่มีโครงการรับจำนำข้าวแล้วสถานภาพโรงสีในภาพรวม ณ ปัจจุบัน และทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร "เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์" นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยคนใหม่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศษรษฐกิจ"ดังรายละเอียด

 สิ้นยุคจำนำแข่งปรับตัว
"เกรียงศักดิ์" กล่าวว่า หลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลสุดท้าย(นาปี2556/57) ส่งผลให้โรงสีทั่วประเทศที่มีมากกว่า 1,000 โรงมีกำลังการผลิตหรือกำลังการสีแปรรวมกันมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี มากกว่าผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศที่เฉลี่ยแต่ละปีมีราว 30 ล้านตัน หรือสัดส่วนกำลังสีแปรมากกว่าผลผลิตถึง 3-4 เท่า ทำให้โรงสีทำงานได้ไม่เต็มกำลัง ขณะที่มีการแข่งขันที่สูง

"จำนวนโรงสีมีส่วนลดลงไป แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเท่าใด แต่บอกได้ว่าที่ลดลงไปเนื่องจากโครงสร้างโรงสีมีกำลังการผลิตมากกว่าผลผลิตไม่แมตกัน ช่วงที่ผ่านมารายได้หลักของโรงสีมาจากการซื้อข้าวเปลือกมาสีแปรและขายให้ผู้ส่งออกถือเป็นอาชีพเชิงเดี่ยว"

แต่ ณ วันนี้โรงสีต้องปรับตัวเอง โดยแต่ละรายได้ย้อนกลับไปดูคือ 1.เรื่องการลดต้นทุนการผลิตในด้าน ต่างๆ 2.พยายามหาแหล่งระบายสินค้า ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศทั้งการผลิตข้าวสาร และข้าวถุงขายให้กับยี่ปั๊ว ซาปั๊วเพื่อไปจำหน่ายต่อ และที่กำลังขยายตัวมากคือการผันตัวเองเป็นผู้ส่งออก ซึ่งในปริมาณข้าวส่งออกของไทยเฉลี่ย 9-10 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้สัดส่วนประมาณ 20% หรือราว 2 ล้านตันมาจากโรงสีที่จดทะเบียนตั้งบริษัทส่งออก รวมถึงผู้ที่ไม่มีโรงสี แต่จดทะเบียนเป็นบริษัทส่งออก ซึ่งใน 2 กลุ่มนี้เป็นสมาชิกสมทบของสมาคมโรงสีข้าวไทย ซึ่งปัจจุบันใน 2 กลุ่มนี้มีประมาณ 120 ราย ขณะที่สมาชิกสามัญของสมาคมฯซึ่งทำเฉพาะธุรกิจโรงสีมี 860 โรง

 เพิ่มเซลแมนประเทศ
"ไม่ใช่โรงสีจะเป็นผู้ส่งออกทั้งหมด บางโรงไม่ตั้งบริษัทส่งออกก็เป็นพันธมิตรและเป็นคู่ค้ากับผู้ส่งออกข้าว หากผู้ส่งออกทำตัวไม่ดี เช่นเบี้ยวชำระค่าข้าวเขาก็ไม่ขายข้าวให้ เพราะเขามีที่ขายมากกว่านั้น ทั้งนี้การที่โรงสีตั้งบริษัทส่งออกมากขึ้นผู้ซื้อต่างประเทศก็มีตัวเลือกมากขึ้น เปรียบเหมือนเรามีเซลแมนของประเทศในการที่จะเอาข้าวออกไปขายมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ส่งออกได้มากขึ้น จากอดีตเราพึ่งผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีกำลังซื้อและมีผลต่อตลาดประมาณ 5-6 รายเท่านั้น"

 ตลาดข้าวไทย2แสนล.
นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยคนใหม่ ยังระบุภาพรวมอุตสาหกรรมข้าวของไทยในแต่ละปีมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท ประเมินจากไทยมีผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละมากกว่า 30 ล้านตัน ตีราคาเฉลี่ยที่ตันละ 8,000 บาท ขณะที่การซื้อขายข้าวในตลาดมีมากกว่า 20 ล้านตันข้าวสารต่อปี แบ่งเป็นการส่งออกและเพื่อบริโภคในประเทศใกล้เคียงกันอย่างละ 10 ล้านตัน

สำหรับข้อกังขาที่หลายฝ่ายมักมองว่าโรงสีเป็นผู้กดราคาข้าวเปลือกชาวนา นายกฯโรงสีตอบว่า ไม่มีใครไปควบคุมตลาดได้ เพราะผู้เล่นมีมาก เพราะนอกจากมีโรงสีที่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแล้ว ยังมีพ่อค้าในท้องถิ่น มีสหกรณ์ และอื่นๆ ที่ไปรับซื้อ

“เดี๋ยวนี้ทุกคนมี โทรศัพท์มือถือ การสื่อสารถึงกันหมดว่าที่ไหนให้ราคาเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าสิ่งที่คุณสะท้อนออกมาให้สะท้อนที่เป็นข้อเท็จจริงด้วย บางคนบอกว่า ขายข้าวได้ราคาถูก ถูกเอาเปรียบคุณต้องพยายามอธิบายให้ได้ว่าเพราะอะไร เพราะข้าวของคุณมีปัญหาหรือเปล่า หรือว่าคนซื้อมีปัญหา โรงสีก็ต้องระมัดระวังในการซื้อข้าวของเกษตรกร ถ้าไปเจอข้าวคุณภาพไม่ดีแล้วตีราคาตํ่า เราจะต้องมีการจดบันทึกและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะวันหลังหากมีราชการถามว่า โรงสีทำไมไปกดราคาเขาจะได้อธิบายให้ฟังในแต่ละรายได้ว่าเพราะอะไร ไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาพรวมโรงสีเสียหาย”

ทั้งนี้หลักการทั่วไปในการซื้อข้าวเปลือก โรงสีจะดูผู้ส่งออกก่อนว่าเสนอซื้อข้าวสารในราคาเท่าใด ซึ่งราคาที่ผู้ส่งออกเสนอมาก็จะสะท้อนจากราคาข้าวในตลาดโลก โรงสีก็นำจะราคาดังกล่าวไปคำนวณซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ส่วนในการซื้อข้าวเปลือกก็จะมีข้าวเปลือกคุณภาพดี คุณภาพปานกลาง และข้าวเปลือกคุณภาพตํ่าตามค่าความชื้นราคาก็จะลดหลั่นกันไป ดังนั้นคนที่ซื้อข้าวคุณภาพตํ่าจะให้ราคาเป็นคุณภาพดีเป็นไปไม่ได้

 ท้าทายอนาคตโรงสี 4.0
"เกรียงศักดิ์" ยังกล่าวถึงภารกิจเร่งด่วนว่ามีหลายเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องเป็นปัญหาตามช่วงเวลา เช่นก่อนหน้านี้โรงสีมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เวลานี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว โดยธนาคารกรุงไทยผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ก็เริ่มผ่อนปรนยอมปล่อยกู้ 70%ของวงเงินแพ็กกิ้งสต๊อก(ตั๋ว P/N)แก่ลูกค้าชั้นดีแล้ว ขณะที่การนำพาธุรกิจโรงสีสู่ยุค 4.0 ก็เป็นอีก 1 งานสำคัญ ล่าสุดช่วงวันที่ 21-23 มีนาคมที่ผ่านมา ทางกรมการค้าภายในได้ให้การสนับสนุนในการจัดอบรมหลักสูตรโรงสียุค 4.0 มองนอกกรอบสู่การค้าข้าวสมัยใหม่

"เราก็ไม่อยากเห็นโรงสีล้มหายตายจาก เพราะโรงสีโรงหนึ่งสร้างด้วยเงินเป็นร้อยล้าน ถ้าล้มไปซักโรงประเทศชาติก็เสียหายไปด้วย หากล้มไปหลายๆ โรงไม่เป็นผลดีกับประเทศ เราอยากให้โรงสีแต่ละโรงกลับมามีความแข็งแกร่ง และปรับตัวอยู่กับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในวันนี้ให้ได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560