พ.จ.อ.เมืองชล วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์การบินของจังหวัดมีปัญหาตั้งแต่มีนาคมเมื่อไทยไลอ้อนแอร์และแอร์เอเชีย ทยอยหยุดบิน ตามด้วยนกแอร์ก็ลดเหลือวันละ 1 เที่ยวตั้งแต่ 1 เมษายน และนับแต่คำสั่งปิดล็อกจังหวัดผู้โดยสารยิ่งลด สายการบินต้องเลื่อนลด บางวันต้องงดเที่ยวบินขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร
จากนี้ไปถึงสิ้นเมษายนจะเหลือทำการบินอีก 2 วัน คือ 24 และ 26 เมษายน ยังไม่แจ้งยกเลิก แต่ละเที่ยวไม่สามารถทราบจำนวนผู้โดยสารล่วงหน้า บางเที่ยวบินเหลือเพียง 19 คน นกแอร์ต้องบริหารโดยนำเครื่องบิน 2 ขนาดมาให้บริการ หากเป็นเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ตรัง จะใช้เครื่องคิว 400 ขนาด 86 ที่นั่ง ถ้าเป็นเที่ยวบินเชื่อมดอนเมือง-นครศรีฯ-ตรัง จะใช้เครื่องใหญ่ขึ้นเป็นโบอิ้ง 737-800 ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสาร ส่วนแนวโน้มหลังวันที่ 30 เมษายน จะกลับมาให้บริการปกติหรือไม่ขึ้นกับการระบาดของโรค
ด้านนายจิรายุสถ์ พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการบริษัทโรงแรมเรือรัษฎา จำกัด กล่าวว่าไม่เพียงผู้โดยสารสายการบินที่หายไป ผู้ที่เดินทางทางรถยนต์ก็ไม่มี เพราะมีความไม่สะดวกจากมาตรการคัดกรองต่างๆ ปกติช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จะมีนักท่องเที่ยวเข้าตรัง มีกลับมาเยี่ยมญาติเทศ กาลเชงเม้ง สงกรานต์ ประกอบกับเป็นช่วงปิดภาคเรียน จะมีแขกเข้าพักเฉลี่ย 40-50 % แต่จากมาตรการปิดล็อกสกัดการแพร่ระบาดกิจการต่างๆ ต้องหยุดไปก่อน รวมถึงโรงแรมที่รายได้เป็นศูนย์ ปิดกิจการชั่วคราว นอกจากไม่มีแขกเข้าพัก การประชุมสัมมนา งานเลี้ยง งานแต่ง ก็ต้องงดหมด คืนเงินมัดจำไป
“ตอนนี้ก็ต้องรอฟังคำสั่งรัฐบาลว่า 1 พฤษภาคม 2563 นี้จะปลดล็อกหรือไม่ ตรังไม่ใช่จังหวัดที่เกิดการระบาดของโรค เพียงแต่ผู้ที่ติดเชื้อโรคจากพื้นที่อื่น กลับมาบ้านเกิดที่ตรังแล้วแสดงอาการ 7 รายเท่านั้น มาตรการปิดเมืองไม่ให้คนนอกเข้า และคัดกรองคนตรังกลับมาบ้านก็ถูกต้องแล้วเพื่อปกป้องพื้นที่ไม่ให้เกิดการระบาด”
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน 2563