รื้อใหญ่‘การบินไทย’  ‘ชาญศิลป์’ปรับองค์กร  กล่อมพนักงานร่วมใจฝ่าวิกฤติ 

23 ก.ค. 2563 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2563 | 11:03 น.

หลังจาก “ชาญศิลป์” ได้เข้ามานั่งเก้าอี้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เห็นชัดเจนว่าที่ผ่านมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรหลายด้าน และการปลุกให้พนักงานร่วมกันเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรอยู่รอด

หลังจาก “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ได้เข้ามานั่งเก้าอี้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2563 นอกจากภารกิจทำแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้ ให้สนับสนุนการบินไทย เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ซึ่งศาลจะนัดไต่สวนในวันที่ 17 ส.ค.นี้แล้ว เห็นชัดเจนว่าที่ผ่านมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรหลายด้าน และการปลุกให้พนักงานร่วมกันเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรอยู่รอด

 

สร้างเอกภาพในองค์กร

สิ่งแรกที่ “ชาญศิลป์” ทำหลังจากนั่งเก้าอี้รักษาการดีดี คือ ความพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพนักงาน โดยให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับพนักงานเป็นสำคัญ เพื่อให้ร่วมกันฝ่าวิกฤต โดยย้ำให้พนักงานเห็นว่า ใน 17 ส.ค.นี้ การบินไทย จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้ พนักงานการบินไทย ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทำแผนตามที่บริษัทฯเสนอ เพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยดำเนินไปได้โดยเร็ว

เนื่องจากมีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน ขอเป็นผู้ทำแผนหรือตั้งผู้ทำแผน ปัญหาของการบินไทยก็จะยืดเยื้อ เดินต่อไม่ได้ ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

นี่เองจึงทำให้ “ชาญศิลป์” ต้องการสร้างเอกภาพในองค์กร เลิกทะเลาะกัน แบ่งพรรค แบ่งพวก และอุดจุดรั่วไหล เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นถึงความตั้งใจและร่วมมือของพนักงานในการร่วมฟื้นฟูการบินไทย และเรียกแรงสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ใหม่เข้ามาในองค์กร

รื้อใหญ่‘การบินไทย’   ‘ชาญศิลป์’ปรับองค์กร   กล่อมพนักงานร่วมใจฝ่าวิกฤติ 

“ความร่วมมือของพนักงานในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง สรรค์สิ่งดีๆ ให้องค์กร ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และสามัคคี” เป็นสิ่งที่รักษาการดีดี เรียกร้องจากพนักงาน

พร้อมตั้ง “Survival Team” ซึ่งมีผู้แทนของการบินไทยจากทุกหน่วยธุรกิจรวม 21 มาเป็นคณะทำงาน เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกส่วน และนำไปผนวกกับแผนฟื้นฟูองค์กร เพื่อให้การทำงานของฝ่ายบริหารและพนักงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยคณะทำงานชุดนี้ จะต้องจัดทำแผนธุรกิจระยะเร่งด่วนและระยะสั้น 4 เดือน (9 ก.ค.-31 ธ.ค.63)

พร้อมย้ำกับพนักงานว่า “ตัวเองไม่ใช่ซุปเปอร์แมน และไม่มีความสามารถด้านการบิน แต่ตัวเขาเองจะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องของน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการบินไทย แต่พนักงานการบินไทยทุกคนมีความสามารถ และแม้ปัจจุบันการบินไทย อยู่ระหว่างการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯก็ยังมีจุดแข็งในสายตาของประชาชนทั่วไป คือ มีแบรนด์ที่ดี มีความเป็นมืออาชีพในด้านธุรกิจการบิน มีวัฒนธรรมและความเป็นไทย มีเส้นทางบินที่เป็น Non-stop Network ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนี้ จะช่วยให้การบินไทยกลับมาดำเนินกิจการได้อย่าง
ต่อเนื่อง และมีโอกาสพลิกฟื้นกลับมาเป็นองค์กรที่ทำกำไรได้

 

3 ทางรอดสู่ “THE BEST”

บริษัทฯผ่านวิกฤติครั้งนี้ พนักงานทุกระดับต้องช่วยบริษัทให้ก้าวข้ามวิกฤติเพื่ออยู่รอด และทำให้องค์กรกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง รักษาการดีดี กล่าวชัดเจนว่า ขอให้พนักงานทิ้งความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา และเดินไปข้างหน้ามุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็น “THE BEST”

องค์กรที่เป็น “THE BEST” ต้องรักษาคนดีคนเก่งไว้ได้ ขณะเดียวกันก็ดึงดูดคนดีและคนเก่งเข้ามาเพิ่ม, ต้องมีแผนกลยุทธ์และแผนงาน ที่ปรับให้เหมาะสม, ลงมือทำตามแผนงานได้ตามกลยุทธ์, มีชุดความคิด (Culture) ที่เป็นมืออาชีพ,มีอินโนเวชั่นและโซลูชันในการทำงาน, สามารถทำธุรกิจผ่านวิกฤติต่างได้,มีการเงินที่แข็งแรง และการบัญชี ที่โปร่งใส, มีการดูแลลูกค้าพนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเหมาะสมเป็นธรรม, มีโครงสร้างกรรมการและโครงสร้างบุคลากร รวมถึงวัดผลที่มุ่งผลสำเร็จของงานด้วยการกำกับดูแลกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล

ดังนั้นหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในการบินไทยในขณะนี้ จึงเกิดการรื้อใหญ่ในหลายเรื่อง เพื่อปรับองค์กรใหม่ เพื่อนำไปสู่องค์กรที่เป็น “THE BEST” รวมถึงล่าสุดที่มีการแต่งตั้งโยกย้าย 2 ผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) คือ “ณัฐพงศ์ สมิตอำไพพิศาล” อดีตซีเอฟโอ รวมถึง “สุวิมล บัวเลิศ” ที่คุมงานด้านบุคลากรและบริหารทั่วไป เข้าสังกัดกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"การบินไทย" จ่อรื้อใหญ่ สายพาณิชย์
'การบินไทย' แจงผิดนัดชำระหนี้ 85,069 ล้านบาท

“การบินไทย” ย้าย 2 บิ๊ก EVP “ชาญศิลป์” คุมบุคคลแทน “สุวิมล”
อัพเดท "การบินไทย" ภายใต้แผนการฟื้นฟูกิจการ คลิกอ่านได้ที่นี่

 

ทั้ง “ชาญศิลป์” ยังนั่งคุมงานด้านทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไปโดยตรง และได้มอบหมายให้รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธองค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน (DY)ไปพิจารณานำสินทรัพย์ต่างๆมาใช้ประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้

อีกทั้ง “ชาญศิลป์” ก็ขอให้พนักงานทุกระดับต้องช่วยกันเพื่อให้บริษัทฯ ผ่านวิกฤติครั้งนี้ ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การเสนอแนวทางลดค่าใช้จ่าย/การลงทุนที่ไม่จำเป็น 2.การหารายได้และกำไรจากความรู้ ความสามารถและทรัพยากร จากจุดแข็งที่มีอยู่ โดยร่วมมือกับมืออาชีพ 3.การทำทุกอย่างเพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้ เช่น การร่วมกันสร้างรายได้ที่นอกเหนือจากการบิน (Non-flight Income)

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ทั้งนี้ 3 ทางรอดนี้ จะเกิดขึ้นเป็นทางรุ่งได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของพนักงานทุกคน ที่จะร่วมคิดแนว ทาง และร่วมทำให้เกิดผลสำเร็จ โดยพนักงานทุกคนสามารถแจ้งข้อเสนอแนะในการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และหากพบว่ามีการทุจริต ก็ขอให้แจ้งเบาะแสมายัง คณะทำงาน Survival Team โดย ชาญศิลป์ ย้ำกับพนักงานว่า “ความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นสิ่งสำคัญขององค์กรที่เป็น THE BEST”

7 สเต็ปที่ต้องเปลี่ยน

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงที่จะนำ การบินไทย ไปสู่ “THE BEST” จะต้องมีเกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรใน 7 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ 1.อะไรต้องปรับต้องเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนเดี๋ยวนี้ 2.Stakeholder ที่จะสนับสนุนให้มีการเปลี่ยน 3.แผนที่มีส่วนร่วมมีการระดมสมอง ให้รอดให้รุ่งในทุกๆฝ่าย 4.สื่อสาร ให้ทุกๆฝ่ายเข้าใจและร่วมกันคิด 5.ร่วมกันลงมือทำ ตามแผนนั้นจากง่ายเร็ว (Quick win) ไปสู่ Big change

6. ประเมินผล ปรับวิธีการบ้าง ปรับเป้าบ้าง ถ้าจำเป็นแต่ทิศทางไม่ปรับบ่อย 7.ลงมือทำต่อไป แล้วฉลองความสำเร็จร่วมกัน

การนำพาองค์กรให้บรรลุทั้ง 7 ขั้นตอนนี้ได้หรือไม่ ไม่เพียงความร่วมมือของพนักงานในการสู้เฮือกสุดท้าย แต่ยังเป็นบทพิสูจน์ฝีมือชาญศิลป์ ด้วยว่าจะนำพาการบินไทย พ้นวิกฤติได้เหมือนไออาร์พีซี ได้หรือไม่ 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563