กังขาขวาง‘การบินไทย’ กลุ่มทุนรอทึ้งซาก

06 พ.ค. 2564 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2564 | 01:56 น.

กังขาคมนาคมบีบ “การบินไทย” ถึงทางตัน ค้านคลังใส่เงินอุ้ม ไม่ให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ หวั่นกระทบหนี้สาธารณะ จับตามีนัยเปิดทางกลุ่มทุนการเมืองหรือไม่วงการบินชี้ รัฐปล่อยกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่นอื้อ ลุ้นประชุมเจ้าหนี้ชี้ชะตา แผนฟื้นฟู 12 พ.ค.

เกือบ 1 ปีเต็มที่การบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจเดินเข้ากระบวนการฟื้นฟู เมื่อ 19 พ.ค.2563 และการประชุมเจ้าหนี้วันที่ 12 พ.ค. 2564 นี้ จะเป็นวันชี้ชะตาว่า การบิน ไทยจะมีทางรอดได้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อหรือไม่

เงื่อนไขสำคัญคือการใส่เงินเพิ่มสภาพคล่องการบินไทย ซึ่งตามแผนฟื้นฟูฯต้องมี 5 หมื่นล้านบาท โดยแนวทางคือ เจ้าหนี้สถาบันการเงินเอกชน จะปล่อยกู้ 2.5 หมื่นล้านบาทโดยขอให้รัฐค้ำประกัน และกระทรวงการคลังให้กู้อีก 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเสียงจากผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นชอบ แต่มาสะดุดเมื่อที่ประชุมครม.5 พ.ค. 2564 ยังไม่มีข้อสรุป

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะรัฐมนตรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการประชุมครม.วันที่ 5 พ.ค.64 กระทรวงการคลังเสนอ ให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภท3 เพื่อที่คลังจะได้ค้ำประกันเงินกู้ และการใส่เงินเติมสภาพคล่อง

เพราะวันนี้การบินไทยถือเป็นบริษัทเอกชน รัฐไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้ แต่ในที่ประชุมมีรัฐมนตรีหลายคน โดยเฉพาะจากพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่เห็นด้วย จึงทำให้ยังไม่มีมติในเรื่องนี้

“คมนาคม”ค้านแหลก

กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีคมนาคม เห็นว่า รัฐไม่ควรให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจและค้ำประกันเงินกู้ เพราะจะทำให้หนี้สินที่ยังไม่ได้ชำระของการบินไทยร่วม2 แสนล้านบาท กลายมาเป็นที่หนี้สาธารณะ ส่วนการเป็นสายการบินแห่งชาติไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ เวลานี้คลังถือหุ้นใหญ่ ครม.สามารถกำหนดให้เป็นสายการบินแห่งชาติได้อยู่แล้ว 

ขณะที่บางคนเสนอว่า ต้องการให้รอดูการโหวตของเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ก่อน โดยให้การบินไทยควรเดินตามแผนฟื้นฟู ทั้งการลดทุนและเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน รวมถึงการใส่สภาพคล่อง อาจให้กองทุนวายุภักษ์ดำเนินการทางอ้อม ให้คงสภาพเป็นเอกชนอยู่

ท้ายสุดเมื่อเสียงแตกนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงให้ทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม กลับไปทำข้อดีข้อเสียเปรียบเทียบกัน เพื่อนำมาเสนอในครม. พิจารณาอีกครั้ง

 

เจ้าหนี้ข้องใจ“คมนาคม”

นายไพบูลย์ แก้วเพทาย หนึ่งในคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ บริษัท การบินไทยฯ ของสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าคมนาคมจะค้านข้อเสนอของคลังไปทำไม

เพราะเรื่องของหนี้สาธารณะ ทางกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้วการที่คลังจะใส่เงินก็ต้องพิจารณาในเรื่องนี้เหล่านี้อยู่แล้ว 

โดยในส่วนของเจ้าหนี้สหกรณ์ฯ เราได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วว่า ขอให้สนับสนุนการบินไทย ทั้งในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่การบินไทย เพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ และสนับสนุนให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ


กังขาขวาง‘การบินไทย’ กลุ่มทุนรอทึ้งซาก

หวังขย้ำ“ซากบินไทย”

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากฝ่ายการเมือง ตั้งข้อสังเกตว่า​  การออกมาสกัดครั้งนี้อาจทำให้สังคมมองได้ว่า บางกลุ่มหวังปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย แล้วนำทรัพย์สินมาขายโดยเฉพาะการให้บริการของหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ที่มีศักยภาพของการบินไทย

ไม่ว่าจะเป็นครัวการบิน การซ่อมบำรุงอากาศยาน การให้บริการภาคพื้น จะเป็นการเปิดทางให้กลุ่มทุนการเมืองเข้ามาซื้อได้ในราคาถูก เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจต่อไปหรือไม่

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบินของไทยกล่ายว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การบินไทย ได้ดำเนินการในหลายเรื่องเพื่อลดต้นทุนอย่างหนัก ทั้งการลดจำนวนพนักงาน รวมถึงผู้บริหารลงไปกว่าครึ่ง ลดต้นทุนค่าเช่า/ค่าซ่อมเครื่องบิน โละเครื่องบินเก่าๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไป

ทำให้ลดค่าใช้จ่ายต่อปีไปได้เกิน 30,000 ล้านบาทแล้ว ทั้งยังเตรียมว่าจ้างผู้บริหารที่มีความสามารถระดับสากล เข้ามาเสริมกำลังหลังแผนอนุมัติ

นับแต่ครม. มีมติเลิกอุ้มการบินไทยและให้เข้ากระบวนการฟื้นฟูเมื่อปีที่แล้ว ถึงวันนี้แผนฟื้นฟูเดินทางมาได้ด้วยดี แต่นานาประเทศยังไม่ปลดข้อจำกัดการเดินทาง การบินไทยยังทำการบินแทบไม่ได้

แม้จะลดค่าใช้จ่ายไปได้มากเพียงใด ก็ยังต้องการสภาพคล่อง คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อดำเนินธุรกิจได้ต่อไปตามเป้าหมายในแผนฟื้นฟู ที่จะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2566

ประเทศอื่นรัฐอุ้มมากกว่าอื้อ

เทียบกับสายการบินทั่วโลกต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกัน หลาย ๆ สายการบินได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ที่มองเห็นความสำคัญของสายการบินต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานในประเทศ และการฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19

ดังนั้น เมื่อเทียบกันแล้ว 50,000 ล้านบาทที่การบินไทยต้องการนั้น ถือเป็นจำนวนไม่มาก และไม่ใช่การขอจากรัฐบาลฝ่ายเดียว ฝั่งเจ้าหนี้เองก็ต้องเข้ามาสนับสนุนด้วยเช่นกัน โดยเป็นการขอให้รัฐบาลช่วยค้ำประกันเงินกู้ 25,000 ล้านบาท ควบคู่กับที่ให้เจ้าหนี้เดิมสนับสนุนเงินกู้อีก 25,000 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับแผนที่เสนอโดยผู้บริหารชุดเดิมก่อนเข้าแผนฟื้นฟู เคยขอให้รัฐบาลสนับสนุนฝ่ายเดียวถึงกว่า 130,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาทและเพิ่มทุนอีก 80,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ทำมาตลอด 1 ปีของการบินไทย ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและโอกาสรอดของการบินไทย

จำนวนเงินที่รัฐบาลสนับสนุนการบินไทย 25,000 ล้านบาทนั้น น้อยกว่าที่รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนสายการบินตัวเองถึง 12 เท่า น้อยกว่ารัฐบาลฮ่องกง/จีน 5 เท่า และน้อยกว่ารัฐบาลเยอรมัน 13 เท่า หากเทียบตามขนาดของสายการบิน เงิน 25,000 ล้านบาทคิดเป็นประมาณ 10% ของสินทรัพย์รวมของการบินไทยก่อนโควิด-19

เทียบกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือถึง 39 % ของสินทรัพย์ คาเธ่ย์ แปซิฟิก ที่ได้รับเงินช่วยเหลือ 14 % ของสินทรัพย์และลุฟท์ฮันซ่า ได้รับเงินช่วยเหลือที่ 22%ของสินทรัพย์ การสนับสนุนเงิน 25,000 ล้านบาทให้การบินไทย ถือเป็นจำนวนเงินที่คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้ต่อประเทศ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวเกี่ยวข้อง: