วันที่ 8 พ.ค. 64 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานข่าวระบุว่า สมาคมภัตตาคารไทย นำโดย นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.เพื่อนำเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบัน
ที่ผ่านมาภาคธุรกิจร้านอาหารปฎิบัติตามคำสั่งศบค.วันที่29 เม.ย.2564 ห้ามนั่งทานในร้าน14 วัน เพื่อตัดวงจรแพร่ระบาด แต่ภาคธุรกิจร้านอาหารไม่มีสายป่านยาวเกินกว่านี้ จึงขอความชัดเจนการเปิดให้นั่งในร้านซึ่งเป็นรายได้หลัก และจะมีการเยียวยาอย่างไร
โดยภาคผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ตระหนักเป็นอย่างดีในความสำคัญของปัญหาวิกฤตการระบาดไวรัสโควิด-19 นี้ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมหยุดยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็ว แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมต่าง ๆ ในระยะเวลา 1 ปีเศษทั้งระลอก 1-2-3 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกิจการและครอบครัวอย่างแสนสาหัส จึงหวังนายกรัฐมนตรี จะให้ความช่วยเหลือ ตามที่ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้นายกฯพิจารณา 2 ส่วนหลัก ดังนี้
ส่วนที่ 1 ความช่วยเหลือด้านต้นทุน ค่าใช้จ่าย โดยออกคำสั่งหรือข้อกำหนดให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการขอลดค่าเช่ากับผู้ให้เช่ามีมาตรการโครงการช่วยเหลือค่าเช่าคนละครึ่ง นอกจากนั้นประสานห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ และให้เจ้าของอาคารผู้เช่าสามารถนำส่วนลดไปขอลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการมาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เงินทุน ให้งดการจัดเก็บภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา
ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับธุรกิจร้านอาหาร และยืดระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน และลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30 เปอร์เซ็นต์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่รอบบิลเดือนเม.ย.เป็นเวลา 6 เดือน พร้อมจัดแหล่งเงินกู้ และให้เจ้าของธุรกิจร้านอาหารเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพิ่มสภาพคล่องเพื่อประคับประคองธุรกิจ ฯ
ส่วนที่ 2 ความช่วยเหลือด้านการขาย รายได้ ออกมาตรการจูงใจการใช้จ่ายภาคประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่ง ฯ ม.33เรารักกัน และอนุญาตให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่เป็นนิติบุคคล สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกโครงการของรัฐบาลได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง, ไทยชนะ, ม.33 มีมาตรการควบคุมค่าส่วนแบ่งการขาย หรือ GP จากแพลทฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ปัจจุบันที่อัตราสูง จนเกิดภาระไม่คุ้มทุนของฝั่งร้านอาหาร ให้อยู่ในอัตราเหมาะสมอย่างน้อยในช่วงเวลานี้ และหรือมีมาตรการช่วยแบ่งเบาค่า GP ดังกล่าว
ขอให้ใช้งบประมาณภาครัฐ หน่วยงานปกครองท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ในการจัดหาอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับหน่วยงาน -เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เช่น โรงพยาบาลสนาม สั่งอาหารเพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ อาหารกล่องแจกแก่ประชาชนผู้ประสบภาวะวิกฤตโควิด ตกงาน ขาดรายได้ หรือให้ความร่วมมือหยุดอยู่บ้าน และให้กกร. ที่มีสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ลงขันจ้างร้านอาหารในท้องถิ่นทำอาหารกล่อง เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนในระบบ รักษาสภาพการจ้างงานพนักงานในร้านอาหาร
อีกทั้งยังมีความสามารถมาอุดหนุนซัพพลายเออร์และช่วยพ่อค้า แม่ค้าในตลาดสด มีผลถึงเกษตรกร ในการสั่งซื้อวัตถุดิบมาประกอบปรุง ก่อให้เกิดกระแสเงินสดหมุนเวียนให้กับร้านอาหารเป็นการเฉพาะหน้าได้ โดยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขคอยควบคุมกระบวนการผลิตอาหารตามมาตรการป้องกัน
ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :