ด่วนมาก ทำไมถึงควรสนับสนุนการฟื้นฟู “การบินไทย”

10 พ.ค. 2564 | 02:35 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2564 | 10:16 น.

“วรวรรณ ธาราภูมิ” ย้ำทำไมควรสนับสนุนฟื้นฟู "การบินไทย"ยันสายการบินแห่งชาติเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจของประเทศ หวั่นนำของดีไปขายให้คนอื่นในราคาถูกแสนถูก ปัญหามีแต่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้

วรวรรณ ธาราภูมิ” ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)บัวหลวง จำกัด ออกมาโฟสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม2564 ข้อความว่า ด่วนมาก...ทำไมถึงควรสนับสนุนการฟื้นฟู “การบินไทย” โดยระบุว่าอีก 2-3 วันก็จะถึงวันประชุมเจ้าหนี้การบินไทย คือในวันที่ 12 พค 64 จะเป็นวันชี้ชะตาว่าการบินไทยจะมีทางรอดหรือไม่ หลังจากวันที่ 19 พ.ค. 63 ซึ่ง ครม. ได้มีมติให้การบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ และให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู

วันนี้แผนฟื้นฟูเดินทางมาได้มากแล้ว แต่นานาประเทศยังไม่ยอมปลดข้อจำกัดการเดินทาง ทำให้การบินไทยแทบขึ้นบินไม่ได้ แม้จะลดค่าใช้จ่ายต่อปีไปได้เกิน 30,000 ล้านบาทแล้ว และต้องการสภาพคล่องในช่วงที่ยังเผชิญโควิทในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้อีก 50,000 ล้านบาท ก่อนที่จะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2566 ที่คาดว่าโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

แต่มีการถกเถียงแนวทางการฟื้นฟูจากกูรูหลายท่านว่าควรขายทิ้งการบินไทยให้เอกชนหรือต่างชาติไปเลย รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก ฯลฯ

แต่ข้าพเจ้าเห็นต่าง สายการบินแห่งชาติเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ

การดำรงอยู่ของสายการบินแห่งชาติ เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP และการบินไทยก็เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ

หากเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พค นี้ การบินไทยก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไป และสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกภายหลังธุรกิจการบินกลับมาเป็นปกติคือ ประเทศไทยจะไม่มีสายการบินแห่งชาติไว้รองรับความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งหากพิจารณาจากจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยในปี 2562 จะพบว่าสูงกว่า 24 ล้านคน

มีความจำเป็นอะไรที่แก้ไขไม่ได้เลยหรือ ถึงจะทำให้เราต้องยอมสูญเสียผู้โดยสารเหล่านี้ให้แก่สายการบินอื่นๆ  อีกทั้งผู้โดยสารชาวไทยก็ต้องไปอาศัยสายการบินอื่นๆ ในการเดินทาง  เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์  เวียดเจ็ท หรือ ไทยไลอ้อนแอร์ ฯลฯ

หากปัญหาเกิดจากข้าราชการหรือนักการเมืองฉ้อฉลในการบินไทย หากเกิดจากบอร์ดหรือผู้บริหารและพนักงานการบินไทยไม่ได้คุณภาพ ก็จัดการเข่าสิ ทำไมต้องถึงกับเลิกสายการบินแห่งชาติที่เป็นของคนไทยทั้งมวล แล้วนำของดีไปขายให้คนอื่นยามนี้ในราคาถูกแสนถูก เช่นลดราคาไปตั้ง 70%-80% ด้วย

หรือจะทำเหมือนยุคต้มยำกุ้งปี 2540 ที่นำสินเชื่อที่อยู่อาศัย 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท ไปเร่งประมูลขายเพียง 190,000 ล้าน ด้วยหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์มากมายให้ผู้ซื้อ ... ลดราคาไปตั้ง 77% ให้คนรับซื้อทั้งไทยและเทศได้ประโยชน์ยิ่งกว่าส้มหล่น  

ในขณะที่สายการบินแห่งชาติของประเทศอื่นๆ ที่ต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกันเขายังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มองเห็นความสำคัญของสายการบินต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานในประเทศ และการฟื้นตัวหลังวิกฤต

ยิ่งไปกว่านั้น บางรัฐบาลยังพร้อมจะสนับสนุนให้สายการบินสามารถแย่งชิงตลาดและขยายตัวได้เมื่อสถานการณ์ฟื้นกลับมาอีกด้วย ... อย่าสายตาสั้น !  

ดูข้อมูลสายการบินแห่งชาติที่รัฐบาลประเทศต่างๆ สนับสนุนให้ประคองตัวในช่วงนี้เพื่อรอโอกาสฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ที่ https://www.thansettakij.com/content/business/478849?as= 

ข้าพเจ้าห่วงจริงๆ ว่าหากเจ้าหนี้ไม่ผ่านแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พค นี้ แล้วทำให้การบินไทยถูกกระชากสินทรัพย์ดีๆ ไปเร่ขายในราคาถูกแสนถูกเหมือนยุค ปรส. รายได้จากการท่องเที่ยวที่มีผู้โดยสารเดินทางด้วยการบินไทยจะหลุดไปจากประเทศ เพราะการบินไทยมีผู้ถือหุ้นเกือบ 48% เป็นกระทรวงการคลัง กว่า 17% เป็นกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง กับอีก กว่า 2% เป็นธนาคารออมสิน ... ผลประโยชน์เหล่านี้จะกลายไปเป็นของสายการบินอื่นทั้งไทยและเทศ ไม่ใช่ของประชาชนโดยผ่านการถือหุ้นของรัฐ

 ถ้าการบินไทยต้องเลิกกิจการ แล้วออกจาก ก.คลัง ไปอยู่ในมือของ ก.คมนาคม ในยุคนี้ เพื่อนำไปแบ่งส่วนขายเป็นชิ้นๆ ... โอ้โห ... ไม่กล้าคิดต่อแล้ว

ยอมไหม ? สิทธิการบินและเส้นทางการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อีกประเด็นสำคัญคืออย่าลิมว่าการบินไทยเป็นหนึ่งในเฟืองจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจท่องเที่ยวในฐานะสายการบินแห่งชาติมากว่า 60 ปี ... การไม่ดำรงอยู่ของการบินไทยจะส่งผลต่อ “สิทธิการบินและเส้นทางการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ” เป็นอย่างมาก เช่น

  • การขนส่งผู้แสวงบุญชาวไทยไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ต้องดำเนินการโดยสายการบินแห่งชาติเท่านั้น (ตามข้อกำหนดของสหราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย) อ้อ ... ก็ต้องทิ้งส่วนดีนี้ให้สายการบินแห่งชาติอื่นสินะ
  • การบินไทยยังมีโอกาสได้รับใช้ประชาชนคนไทยตามภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนตามที่ภาครัฐร้องขอ เช่นการให้บริการขนย้ายผู้โดยสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • หากการบินไทยไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ การบินไทยต้องเสียสิทธิในการเป็นพันธมิตรสายการบิน Star Alliance ซึ่งเป็นพันธมิตรสายการบินขนาดใหญ่ของโลกที่การบินไทยมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง  และสมาชิกในกลุ่ม Star Alliance ก็มีการส่งต่อผู้โดยสารระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางผ่านประเทศไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญถ้าไม่มีสายการบินแห่งชาตินี้ไปแล้ว
  • ผลกระทบต่อคู่ค้ากว่า 2,000 ราย และผลกระทบต่อลูกจ้างกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  อาจกระทบต่อการจ้างงานของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อเจ้าหนี้กว่า 13,000 ราย
  • ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากการที่การบินไทยเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีการออกหุ้นกู้ มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาทขายให้แก่นักลงทุนทั่วไป โดยนักลงทุนซื้อเพราะเชื่อว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ (มีชุมนุมสหกรณ์ต่างๆ  ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 3 ล้านราย และเมื่อรวมกับครอบครัวสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 12 ล้านราย  นำเงินออมมาลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยรวมกันกว่า 40,000 ล้านบาท เป็นผู้ถือหุ้นกู้หลัก) 

ดังนั้นหากการบินไทยล้มละลายหรือไม่สามารดำรงอยู่ได้ การบินไทยย่อมไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เหล่านี้ได้รับความเสียหายจำนวนมากและในวงกว้าง จนอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติสำหรับการลงทุนในตราสารทางการเงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันในอนาคต

Brand Power

ธุรกิจการบินไทยยังมีพื้นฐานที่ดี มี Brand ที่แข็งแกร่ง และมีทรัพยากรที่สามารถดำเนินงานต่างๆ ต่อไปได้ทันที เช่นเดียวกับสายการบินชั้นนำของโลก แค่เพียงปรับโครงสร้างบริหารจัดการองค์กรตลอดจนหน่วยธุรกิจต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัวและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลงเสีย

ปัญหาของการบินไทย  ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้

จำนวนเงินที่ขอให้ภาครัฐให้การสนับสนุนเพียง 25,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ให้การสนับสนุนสายการบินแห่งชาติของตนเอง

นอกจากนี้ การดำเนินการเพื่อให้สามารถฟื้นฟูกิจการได้นั้น การบินไทยจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดจนสิทธิประโยชน์จากสัญญาที่มีความเกี่ยวข้องหรือต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ ไม่ด้อยกว่าก่อนการเข้าฟื้นฟูกิจการ จึงจะส่งผลดีต่อฟื้นตัวของการบินไทย

การให้การสนับสนุนของภาครัฐยังส่งผลต่อความต่อความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน นักลงทุน และสร้างความภูมิใจให้แก่ประชาชนชาวไทย ที่ยังคงดำรงให้การบินไทยเป็น “สายการบินแห่งชาติ”  ต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสังคมส่วนรวม ทั้งในสถานการณ์วิกฤตและปกติ  มาโดยตลอด

ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา การบินไทยก็คือฑูตวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยในฐานะ “Thailand, the Land of Smile” จึงน่าเสียดายอย่างยิ่งหากการบินไทยไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ทั้งที่ยังมีโอกาสฟื้นฟูกิจการซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน

หากปล่อยให้การบินไทยล่มสลาย ประเทศไทยจะไม่มีสายการบินแห่งชาติอีกต่อไป และการที่จะสร้างสายการบินแห่งชาติขึ้นใหม่ ก็ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่ดี อีกทั้งอาจต้องเสียเวลาอีก 60 ปีในการสร้าง Brand Awareness ให้เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะสายเกินไป และจะทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาเป็น Medical Health Tourism Hub of the Region ตามรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น