การบินไทย เดินแผนปฏิรูปองค์กรใหม่ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ธุรกิจ กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำรายได้เชิงพาณิชย์ โฟกัสรู้ตบินทำกำไร-เส้นทางสำคัญเชิงกลยุทธ์ ประเมินปี 68 จะกลับมาบินได้ 85% ทั้งเร่งขยายรายได้หน่วยธุรกิจหาผู้ร่วมทุนเพิ่มศักยภาพ ลดค่าใช้จ่าย 5 หมื่นล้าน
แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย จุดโฟกัสไม่ใช่เพียงการหาแหล่งเงินใหม่ 5 หมื่นล้านบาท ที่จะทยอยเข้ามาในช่วง 1-3 ปีนี้ ซึ่งจะต้องเริ่มเข้ามาล็อตแรกก่อนสิ้นปีนี้ แต่ยังต้องเดินหน้าเปิดธุรกิจกลับขึ้นมาอีกครั้ง และสร้างรายได้ ภายแผนการขับเคลื่อนยุทธศาตร์ของการบินไทย ใน 9 เรื่องที่จะปฏิรูปองค์กรใหม่
โดยการบินไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ ได้แก่ “สายการบินคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง” ภายใต้ 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก 2. เพิ่มประสิทธิภาพเชิงพาณิชย์ 3.บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ 4.เป็นองค์กรที่ประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัย
นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ากลยุทธ์การสร้างรายได้เชิงพาณิชย์จากนี้ จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพขายตั๋ว การหารายได้เสริม การพัฒนาระบบดิจิทัล โดยการบินไทยเริ่มทยอยกลับมาบินเชิงพาณิชย์ใน Q1 และ Q4 ปีนี้ เริ่มจากก.ค.ที่จะบินจาก 5 เมืองจากยุโรป แฟรงค์เฟิร์ต, ลอนดอน, โคเปนเฮเกน, ปารีส และซูริค บินตรงเข้าภูเก็ต เพิ่มเติมจากการบินแบบกึ่งพาณิชย์ เข้ากรุงเทพที่ทำการบินอยู่หลังเกิดโควิด
ช่วง Q3/64 นี้การบินไทยจะกลับมาบินได้ราว 30-35% เมื่อเทียบกับปี 62 และเพิ่มเป็น 40% Q 2/65 จากนั้นจะเพิ่มเป็น 85% ในปี 68 เส้นทางที่การบินไทยจะกลับมาบิน จะพิจารณาจากเส้นทางที่ทำกำไร เส้นทางที่เมื่อลดค่าใช้จ่ายแล้วจะทำกำไรได้ การปรับปรุง การพัฒนาด้านการพาณิชย์ เส้นทางบินที่มีสัดส่วนการต่อเครื่องสูง เส้นทางบินที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์
นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่หน่วยธุรกิจการบิน เผยว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าการเพิ่มรายได้จากหน่วยธุรกิจต่างๆ ตามแผนฟื้นฟู จะทำให้หน่วยธุรกิจครัวการบิน บริการภาคพื้นและคลังสินค้า เป็นธุรกิจที่มีอนาคต ทำกำไรได้ เช่น การหาผู้ร่วมลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจ ส่วน คาร์โก้ ไม่ได้มองแค่เป็นคลังสินค้าแต่จะพัฒนาสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ รับอีคอมเมอร์ซ
นายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง เผยว่า เรามองการสร้างรายได้ของฝ่ายช่าง ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19 ได้ซ่อมบำรุงอากาศยาน ให้กับสายการบิน เช่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีรายได้ 1 พันล้านบาท การซ่อมบำรุงในสนามบินอื่นๆ ด้วย เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ส่วนต่างประเทศ เช่น เมืองเสียมราฐ ย่างกุ้ง และกาฐมาณฑุ ก็ให้บริการซ่อมบำรุงที่ประเทศเหล่านั้น สามารถทำรายได้ภาวะปกติประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ ก็มีแผนจะขยายธุรกิจนี้เพิ่มสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
นายชวาล รัตนวราหะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร กล่าวว่าการบินไทยมีโครงการต่างๆ ที่เป็นทั้งเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย อาทิ ด้านบุคลากร และการเพิ่มรายได้ ตีเป็นมูลค่าได้กว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้ทำไปได้กว่า 45% คิดเป็นมูลค่าราว 2.57 หมื่นล้านบาท ที่ลดต้นทุนไปได้ เมื่อเทียบกับปี 2562 และจะยังคงเดินหน้าเพิ่มรายได้และลดต้นทุนเพิ่มอีก 15%
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี กล่าวว่า ช่วงก่อนที่แผนฟื้นฟูกิจการจะได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลาย บริษัทได้เจรจาปรับสัญญาเช่าเครื่องบินกับผู้ให้เช่า โดยในช่วงที่การบินยังไม่กลับสู่สภาวะปกติจะจ่ายค่าเช่าตามชั่วโมงบิน หรือราว 2 ปี ทั้งจะปรับสัญญาเช่าใหม่ที่จะลดลงจากฉบับเดิม รวมถึงการยกเลิกเครื่องบินเช่า 16 ลำ
ปัจจุบันการบินไทยจะเหลือเครื่องบิน 60 ลำ เป็นเครื่องบินให้เช่า 54 ลำ และอีก 6 ลำการบินไทยเป็นเจ้าของเอง ถ้าธุรกิจกระเตื้องขึ้นก็มองว่า จะจัดหาเครื่องบินเพิ่มเป็น 80-90 ลำในปี 68 จากแผนฟื้นฟูนี้เราคาดหวังว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก่อนออกจากแผนฟื้นฟูฯ 2 ปีสุดท้าย เฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทจะพยายามออกจากแผนฟื้นฟูฯ ภายใน 5 ปีหรือเร็วที่สุด
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวเกี่ยวข้อง: