‘มูลค่า’ของการเล่น Facebook คือเท่าไหร่

15 ม.ค. 2563 | 11:40 น.

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563

 

ช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสมาร่วมงานสัมมนานักเศรษฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คืองาน Allied Social Sciences Association (ASSA 2020) ซึ่งปีนี้จัดที่เมือง San Diego โดยปกติแล้วงานนี้จะมีจัดทุกๆ ปี แต่ละปีก็ย้ายเมืองที่จัดวนๆ ไป ที่งานนี้จะมีงานวิจัยเศรษฐศาสตร์จากหลากหลายแขนงที่น่าสนใจมานำเสนอมากมาย ผู้เข้าร่วมก็มีถึงนักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล ไปจนถึงเด็กๆนักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก

เนื่องด้วยผู้เขียนสนใจเรื่องเกี่ยวกับ Digital Economy, Technological Innovation, Machine Learning in Economics, Blockchain & Cryptocurrencies จึงวิ่งวนไปมาระหว่างห้องที่มีจัดสัมมนาในเรื่องเหล่านี้ (ที่งานนี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจหลายเรื่องมาก มีหลายห้องจัดสัมมนาพร้อมๆ กันในหลายโรงแรม จึงต้องวางแผนดีๆ เพื่อที่จะวิ่งไปวิ่งมาให้ทันได้ฟังในเรื่องที่อยากฟัง) มีหลายเรื่องที่ผู้เขียนจะค่อยๆ  นำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป สำหรับวันนี้มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการวัดมูลค่าของการเล่น Facebook มาเล่าให้ฟังกันค่ะ

ปกติแล้วสินค้าและบริการที่เราใช้กันอยู่ฟรี เช่น Facebook, Google, Wikipedia etc. มักจะหามูลค่าได้ยาก เพราะเราไม่ได้ต้องเสียเงินเพื่อที่จะใช้มัน งานวิจัยโดย Brynjolfsson et. al (2019) เสนอว่า ถ้าเช่นนั้นเราลองถามผู้ใช้ดูไหมว่า เราจะต้องจ่ายเงินเขาเท่าไหร่เพื่อที่เขาจะเลิกใช้ของฟรีเหล่านั้น เป็นที่มาของการนำเสนอวิธีการวัดมูลค่าเศรษฐกิจแบบใหม่ที่คณะผู้วิจัยเรียกว่าGDP-B” ซึ่งจะสามารถวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลที่รวมของฟรีเหล่านี้ด้วย (ซึ่งแนวคิดเรื่องนี้ผู้เขียนเคยนำมาเล่าให้ฟังใน Column นี้แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ช่วงที่งานวิจัยนี้ออกมากใน Version แรกๆ ชื่อตอนว่าการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล”)

โดยงานวิจัย Version ล่าสุดนี้วัดมูลค่าของการเลิกเล่น Facebook ของคนอเมริกัน เป็นเวลา 1 เดือนไว้ที่ USD 42.17 แสดงว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าการเล่น Facebook มีประโยชน์และตีมูลค่าของการเล่น Facebook เป็นมูลค่าบวก

 

‘มูลค่า’ของการเล่น Facebook  คือเท่าไหร่


 

 

อย่างไรก็ดี มีอีกงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจและให้ผลขัดแย้งกัน คืองานของ Allcott et. al (2019) ซึ่งศึกษาผลกระทบของ Facebook ด้วยการจ่ายเงินให้ผู้ถูกทดลอง เลิกใช้ Facebook จริงๆ โดยการให้ Deactivate Facebook Account จริงๆ เป็นเวลา 1 เดือน และทำการเก็บข้อมูลกิจกรรมต่างๆ และความสุข” (Subjective Well-Being) ของผู้ถูกทดลองในช่วงเวลาที่เลิกใช้ Facebook นั้น

ผลการศึกษาที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมากคือ นักวิจัยพบว่า ผู้ถูกทดลองมีความสุขมากขึ้นในช่วงเวลาที่เลิกใช้ Facebook นั้น ซึ่งแปลว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่คนเคยคิดว่าดี ให้มูลค่าเป็นบวก อาจจะไม่ได้ดีกับความสุขหรือสุขภาพจิตของผู้ใช้เสมอไป โดยนักวิจัยเปรียบเทียบผลงานวิจัยนี้ว่า อาจจะคล้ายกับสิ่งเสพติด (Addiction) ต่างๆ ที่ผู้เสพยอมจ่ายเงินเพื่อเสพสิ่งเสพติดเหล่านั้น แต่จริงๆ แล้วสิ่งเสพติดเหล่านั้นไม่ได้ดีกับสุขภาพของผู้เสพเลย

หากมองภาพรวมจากงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นนี้แล้ว ผู้เขียนมองว่า Social Media (ในกรณีนี้คือ Facebook) ก็คงเหมือนหลายๆ สิ่งในโลก คือมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ การได้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ การได้รับรู้ข่าวสารต่างๆ อย่างรวดเร็ว การได้อ่านอะไรสนุกๆ ให้สบายใจ

อย่างไรก็ดี Social Media ก็มีข้อเสียเช่นกัน เช่น การที่ต้องได้เห็นข่าวหรือข้อความเครียดๆ การรับรู้ถึงการทะเลาะขัดแย้งเสียดสี หรือการรู้สึกเศร้าที่ไม่ได้มีหลายสิ่งเพียบพร้อมเหมือนกับสิ่งที่คนอื่นๆ ดูเหมือนจะมีในโลก Online

 

 

ผู้เขียนมองว่า ทางออกของเรื่องนี้ก็คือทางสายกลางนั่นก็คือการเสพ Social Media (ในกรณีนี้คือ Facebook) อย่างพอดีและมีสติ ซึ่งพอดีของแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน

วิธีดูง่ายๆ ว่าเราเสพอะไรเกินพอดีหรือเปล่า ก็ลองสังเกตดูว่าสิ่งที่ทำอยู่ให้ทุกข์มากกว่าสุขหรือเปล่า (โดยทั้งทุกข์และสุขนี้ให้มองภาพรวมทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบตัว)

ถ้ารู้สึกได้ว่าทุกข์มากกว่าสุข รู้สึกได้ว่าได้รับผลเสียมากกว่าผลดี แปลว่าเราอาจจะเสพสิ่งนั้นจนเกินความพอดีแล้ว อาจจะต้องหยุดบ้าง พักบ้าง หาอะไรอย่างอื่นทำบ้าง เพื่อจะได้ทำให้ชีวิตมีความสุข, สมดุล, และพอดี

 

References:

(1) วรประภา นาควัชระ และ พงษ์ศักดิ์ เหลืองอร่ามการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล, ฐานเศรษฐกิจ, สิงหาคม 2018 (http://www.thansettakij.com/content/307648)

(2) Brynjolfsson, E., Collis, A., Diewert, W., Eggers, F., Fox, K., (2019), “GDP-B: Accounting for the Value of New and Free Goods in the Digital Economy”, NBER Working Paper No. 25695.

(3) Allcott, H., Braghieri, L., Eichmeyer, S., Gentzkow, M., (2019), “The Welfare Effects of Social Media”, Working Paper.