ฟื้นครม.เศรษฐกิจ นายกฯปรับกระบวนสู้ศึก

09 ก.ค. 2563 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2563 | 12:14 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3590 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.63

ฟื้นครม.เศรษฐกิจ

นายกฯปรับกระบวนสู้ศึก

 

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมครม.เศรษฐกิจเต็มคณะอีกครั้่ง ในวันศุกร์ที่ 10 ก.ค.นี้ นับแต่ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อ 6 มีนาคม 2563 จากนั้นว่างเว้นไปกว่า 4 เดือนเต็ม เมื่อรัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 รับมือการแพร่ระบาด จนปัญหาเฉพาะหน้าด้านสาธารณสุขเริ่มคลี่คลาย

     นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ชี้แจงว่า เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูประเทศ โดยนายกฯสั่งให้จัดการประชุม 2 สัปดาห์ครั้ง โดยครั้งแรกนี้จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) และครั้งถัดไปเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

     จากเงื่อนไขการเป็นรัฐบาลผสม กระทรวงเศรษฐกิจกระจายอยู่ในความรับผิดชอบของพรรคร่วม ไม่มีทีมเศรษฐกิจรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง รัฐบาล “ประยุทธ์2/1” มีคำสั่งตั้ง “คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ)” 15 คน ไม่นานหลังฟอร์มครม.เสร็จ มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน

     คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ จากกระทรวงเศรษฐกิจและที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการคลัง ท่องเที่ยวและกีฬา อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลังงาน มหาดไทย แรงงาน และอุตสาหกรรม

     ครม.เศรษฐกิจประชุมครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2562 และนัดประชุมทุก 2 สัปดาห์ แต่ที่ผ่านมางานด้านเศรษฐกิจไปคนละทาง เนื่องจากแต่ละกระทรวงต่างผลักดันมาตรการเศรษฐกิจ ตามนโยบายพรรคของตนเองเป็นหลัก

     ความเชื่อมั่นรัฐบาลยิ่งสั่นคลอน ทั้งที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เป็นภาระหนักที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อพรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร โดยทีมนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หลุดยกแผง จนกระเพื่อมถึงสถานะรัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่ดูแลด้านเศรษฐกิจ แม้นายกฯจะยืนยันอำนาจการปรับ-ครม.เป็นของตน และเวลานี้ยังไม่คิดเปลี่ยนก็ตาม

     การเรียกประชุมครม.เศรษฐกิจครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจให้ที่ประชุมรับทราบ และหารือมาตรการเศรษฐกิจที่ควรเพิ่มเติมร่วมกัน เป็นการทำงานแบบบูรณาการ ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบครบถ้วน และมีการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาวด้วย

     นับเป็นการกระชับการประชุมลดแรงกระเพื่อม ในการนำทัพฝ่าวิกฤติด้านเศรษฐกิจด้วยตนเอง หลังจากที่เริ่มออกพบปะผู้ประกอบการใหญ่ และต่อเนื่องด้วยภาคส่วนต่างๆ รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อผนึกกำลังรวมไทยสร้างชาติ