หลายอุตสาหกรรมเพิ่งเผชิญผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนตั้งหลักไม่ทัน แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่เจอวิกฤติมาก่อนและมาถูกซ้ำเติมโครมใหญ่จากพิษโควิด-19 อีก ทั้งที่ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอุตสาหกรรม“เหล็ก”ที่ทั่วโลกถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ
“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)คนใหม่ ที่พ่วงท้ายด้วยตำแหน่งนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เปิดใจสะท้อนมุมมองถึงอุตสาหกรรมเหล็กนับจากนี้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นที่วิกฤติที่สุดอย่างการทุ่มตลาดเหล็กจากจีน
นาวา จันทนสุรคน
อุตฯเหล็กกับโควิด
นายนาวามองว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติจากโควิด-19 เพราะถ้าพิจารณาจากภาพรวมที่มีการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำมากเพียง 30% จากกำลังการผลิตทั้งหมดก็ถือว่าวิกฤติอยู่ก่อนแล้ว โชคดีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของไทยมีความเข้มแข็ง เพราะเคยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเหล็กในอาเซียน และแม้จะเผชิญวิกฤติเหล็กทุ่มตลาดอย่างมากในระยะหลังจนการใช้กำลังการผลิตลดต่ำถดถอย แต่ก็ยังปรับตัวและและอยู่รอดเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยได้
ไทย-โลกใช้เหล็กลดลง
จากผลกระทบของโควิด-19 จะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกในปี 2563 จะถดถอยลง โดยความต้องการใช้ประมาณ 1,654 ล้านตัน ลดลง 6.4% จากปี 2562 ทั้งนี้เมื่อจำแนกความต้องการใช้เหล็กของ 5 ประเทศในอาเซียน(เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์) ปี 2563 ประมาณ 75.9 ล้านตัน ลดลง 2.4% จากปี 2562
ปัจจุบันเวียดนามแซงหน้าประเทศไทย ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้เหล็กสูงสุดในอาเซียน 4 ปีต่อเนื่องแล้ว ความต้องการใช้เหล็กปี 2563 ประมาณ 25 ล้านตัน โตขึ้น 2.8% จากปี 2562
ส่วนความต้องการใช้เหล็กของไทยในปี 2563 ประมาณ 17 ล้านตัน ลดลง 6% จากปี 2562 ทั้งนี้แม้ความต้องการใช้จะถดถอยลง แต่ก็ยังดีกว่าหลายประเทศที่มีการล็อกดาวน์อุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น อินเดีย และอุตสาหกรรมเหล็ก เช่น อิตาลี โดยการบริโภคเหล็กของไทยในครึ่งหลังของปีนี้แนวโน้มน่าจะปรับตัวดีกว่าครึ่งปีแรก มีแรงขับเคลื่อนหลักจากการก่อสร้างโครงการภาครัฐ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
5 ปีรัฐแก้ปัญหายังอืด
ต้องบอกว่าสาเหตุหลักของวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็ก คือ ปัญหาสินค้าเหล็กทุ่มตลาดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและรุนแรงไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการคนไทยเท่านั้นที่เดือดร้อน แม้กระทั่ง บริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งมีความเข้มแข็งมากทั้งในด้านเทคโนโลยีและเงินทุนที่มาตั้งโรงงานเหล็กในไทยและถือเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย เป็นสมาชิกของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กฯ ยังต้องยื่นเรื่องฟ้องต่อภาครัฐเพื่อขอให้ใช้มาตรการทางการค้าเช่นกัน
และหากวิกฤตินี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีบูรณาการจริงจัง จนการใช้กำลังการผลิตภายในประเทศลดลงเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่ง ผู้ประกอบการต่าง ๆ ก็อาจไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือโรงงานเหล็กต่าง ๆ ในประเทศที่จะอยู่รอดต่อไปได้อาจกลายเป็นของต่างชาติหมด หากประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเหล็กเกือบทั้งหมด การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ย่อมขาดความมั่นคงแบบยั่งยืน
ปัญหาสำคัญคือ ความล่าช้าในการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด แต่ที่เป็นปัญหายิ่งกว่าอีก คือ การไม่สามารถใช้มาตรการทางการค้าอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน บัญญัติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 แต่ประเทศไทยไม่สามารถและไม่เคยใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing) เพราะยังไม่มีการออกกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง เพื่อให้ครบถ้วนสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งเป็นความล่าช้ากว่า 20 ปี
กรณีมีการนำเข้าสินค้าโดยพฤติกรรมหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาด(Circumvention) แต่ภาครัฐไม่สามารถใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) ได้ เพราะไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้
“ผมเป็นผู้นำเสนอประเด็นปัญหาความล่าช้าและไม่ทันการณ์ของกฎหมายนี้ต่อพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2558 จนท่านสั่งการให้มีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. และออกกฎหมายลูกต่าง ๆ ร่างกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง แต่ก็ใช้เวลาดำเนินการต่อมาอีกกว่า 5 ปี ในอีก 3 รัฐมนตรีว่าการแล้ว ปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยก็ทราบข่าวดีล่าสุดจากกรมการค้าต่างประเทศว่า กฎหมายลูกต่าง ๆ น่าจะแล้วเสร็จภายในสมัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)”
ทางรอดพ้นวิกฤติ
ถ้าดูข้อมูลเมื่อครึ่งแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2563 จีนส่งออกสินค้าเหล็ก (Finished Steel) จำนวน 28.7 ล้านตัน ลดลง 16.5% จากครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีนยังมีทิศทางที่ดี หลังจากฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา
“หากมองตัวเลขดังกล่าว อาจดูเหมือนจะเบาใจได้ แต่ไม่ใช่ เพราะสินค้าเหล็กบางประเภทจากจีน กลับมีปริมาณส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าเหล็กที่ไม่มีการปกป้องทางการค้า เช่น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Hot-Dip Galvanized) โดยจีนเห็นเป็นช่องโหว่ที่สามารถทุ่มตลาดได้ และส่งออกมาไทย เฉลี่ยเกือบ 130,000 ตันต่อเดือนในปี 2563 เพิ่มขึ้นมากถึง 44% จากปริมาณเฉลี่ยต่อเดือนปี 2562”
ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กผลักดัน คือ การกระตุ้นและร้องขอให้ภาครัฐเร่งรัดกระบวนการทั้งขั้นตอนการเปิดไต่สวน และการพิจารณาหากสมาชิกยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD Committee) หรือคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (Safeguard Committee) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
ที่ผ่านมาแม้การพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าวมักใช้ระยะเวลานานเต็มที่ตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย แต่หลายประเทศก็สามารถพิจารณากรณีดังกล่าวทั้งในขอบข่ายที่มากกว่าได้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันรวดเร็วไม่กี่เดือน ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป ไม่ได้ให้อุตสาหกรรมภายในต้องยื่นเรื่องเอง แต่ภาครัฐเป็นผู้ริเริ่มยื่นเรื่องเอง โดยมีความเข้าใจและตระหนักว่าเป็นวาระแห่งชาติ กรณีประเทศไทยไม่เคยมีกรณีที่ภาครัฐเป็นผู้ริเริ่มเอง ทุกกรณีผู้ประกอบการเป็นผู้ยื่นเรื่อง และใช้เวลานานกว่าคณะกรรมการจะพิจารณาเปิดไต่สวน
“สิ่งที่เห็นในการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในระยะหลัง คือ การประสานกันในลักษณะซัพพลายเชนมากขึ้น ความร่วมมือในประโยชน์ส่วนรวมกันเข้มแข็งขึ้น การเสนอเรื่องต่าง ๆ ต่อภาครัฐมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น เมื่อเจอปัญหาผลกระทบจากโควิด เราทั้งปรับตัวให้สามารถรับกับวิกฤติที่รุนแรงขึ้น พัฒนาควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวด และรีบเสนอแนะภาครัฐถึงมาตรการที่ควรเร่งดำเนินการ เช่น การส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ การป้องกันสินค้าเหล็กทุ่มตลาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และเชื่อว่าภาครัฐจะสามารถขับเคลื่อนให้นโยบายและมาตรการต่าง ๆ บรรลุผลโดยเร็ว”
หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3595 วันที่ 26-29 กรกฎาคม 2563