สำหรับผู้ที่สนใจข่าวคราวการเมืองของแดนหมีขาว เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อของ “อเล็กเซ นาวาลนี” ยูทูปเบอร์ชื่อดัง นักเคลื่อนไหวต่อต้านคอรัปชั่นและนักการเมืองผู้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของขั้วตรงข้ามรัฐบาลนายวลาดิมีร์ ปูติน
ไม่ว่านายนาวาลนีเคลื่อนไหวอะไร ล้วนกลายมาเป็นข่าวในหน้าสื่อรัสเซียและสื่อระดับโลกทั้งนั้น รวมถึงข่าวอันน่าตกใจในสัปดาห์นี้กับข่าวลือ “การลอบวางยาพิษ” ที่ทำให้เครื่องบินโดยสารที่เขานั่งกลับมอสโกต้องรีบจอดฉุกเฉินกลางทางส่งตัวเขาเข้ารักษาอย่างกระทันหัน
ตอนนี้อาการของเราเริ่มทรงตัวแล้วแต่ก็ยังอยู่ภาวะโคม่าต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่การสืบสวบคดีของเขายังไม่มีความคืบหน้า เขาโดนวางยาพิษจริงหรือไม่ รับสารพิษเข้าไปตอนไหน ยังไม่พบหลักฐานเพิ่มเติม
คนใกล้ชิดของเขาหลายคนเชื่อว่า นายนาวาลนีโดนลอบทำร้ายครั้งนี้มีเหตุจูงใจมากจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาและมีรัฐบาลรัสเซียอยู่เบื้องหลัง บ้างก็ว่าอาจเป็นความพยายามตัดไฟแต่ต้นลมของรัฐบาลที่เกรงกลัวกระแสการประท้วงในเบลารุสลามมาจุดติดกระแสการเมืองภายในประเทศ หากไม่มีนายนาวาลนี ความเข้มแข็งของฝ่ายค้านจะหายไป
หากถามว่าทำไมต้องเจาะจงกำจัดนายอเล็กเซ นาวาลนี นั่นเพราะในสนามการเมืองรัสเซียตอนนี้ ไม่มีนักเคลื่อนไหวคนไหนเป็นที่จับตาเท่าเขาอีกแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายนาวาลนี นักการเมืองไฟแรงวัย 44 ปี สร้างชื่อมาจากการเปิดโปงการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ออกมาโจมตีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินและพรรคอย่างสม่ำเสมอและนำการประท้วงอยู่บ่อยๆ ทำให้เขาต้องไปนอนในคุกอยู่หลายครั้ง
ช่องยูทูปที่เขาลงคลิปวิจารณ์การเมืองแบบไม่กั๊กมียอดวิวในแต่ละคลิปหลักล้าน มีผู้ติดตามเกือบ 4 ล้านคน นับว่าเป็นนักเคลื่อนไหวชาวรัสเซียที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะแม้จะไม่ค่อยได้พื้นที่ในสื่อของรัฐบาล แต่สามารถสร้างตัวมาจากการบอกเล่าปากต่อปากและอิทธิพลอินเทอร์เน็ต
ด้วยจุดยืนอันแน่วแน่ของเขาที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองที่ส่งให้ประธานาธิบดีกุมอำนาจของประเทศไว้ ทำให้การเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในปี 2561 นายนาวาลนี ถูกทางการรัสเซียขัดขวางไม่ให้ลงสมัครเลือกตั้งทุกวิธีทาง ตัดสิทธิ์โดยอ้างว่าเขาขาดคุณสมบัติเพราะเคยโดนศาลพิพากษาว่าเคยทำความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่นมาก่อน แม้เขาจะแย้งว่าข้อหานั้นเป็นเรื่องการเมืองก็ตาม
ก่อนหน้านี้ในปี 2562 มีเหตุการณ์ที่คล้ายกับครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่เขาต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 30 วันฐานเรียกร้องให้จัดการประท้วงโดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากทางการ ในครั้งนั้นเขาล้มป่วยในช่วงที่ถูกขังและได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโรคผิวหนังอักเสบทั้งที่ตัวเขาไม่เคยมีอาการดังกล่าวมาก่อน เขาจึงเชื่อว่าตัวเองถูกลอบวางยาพิษ
แม้ว่าหลายๆ อย่างจะชี้ไปว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีเบื้องหลังจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ทว่าถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันสมมติฐานข้อนี้ หรือหากรัฐบาลอยู่เบื้องหลังจริง การเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็ดูจะโจ่งแจ้งไปเสียหน่อย น่าจะยิ่งเป็นส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมของฝ่ายรัฐบาลที่นับวันยิ่งถดถอยลงเรื่อยๆ
ความสำคัญของเขาทำให้หลังจากที่มีข่าวนายกรัฐมนตรีอังเกล่า แมร์เคิลของเยอรมนีรีบออกมาแถลงแสดงความเป็นห่วง เรียกร้องขอความโปร่งใสในการดำเนินคดี ขอให้รัสเซียสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับตัวคดีให้เร็วที่สุด พร้อมเสนอความช่วยเหลือด้านการแพทย์อย่างเต็มที่
ส่วนเครมลินค่อนข้างสงวนท่าทีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเมื่อนักข่าวจ่อไมค์ถามว่า นายปูตินรู้ข่าวอาการของนายนาวาลนีบ้างหรือไม่ โฆษกตอบเพียงว่า ประธานาธิบดีรัสเซียติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่แล้วจึงทราบข่าวเท่าที่สื่อนำเสนอแต่เพียงเท่านั้น และยังเสนอตัวอีกว่า หากมีการติดต่อเข้ามายังเครมลินหรือที่กระทรวงสาธารณสุขว่าจะส่งตัวเขาไปรักษายังต่างประเทศจะรีบจัดการให้ แม้ช่วงนี้ขั้นตอนจะซับซ้อนขึ้นเพราะสถานการณ์โควิด-19
ไม่ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร แต่การสืบสวนคดีจะต้องเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดในระดับโลกอย่างแน่นอน เพราะนี่คืออิทธิพลของนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินหวาดกลัวที่สุด
** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **
Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย