เศรษฐกิจหลังโควิดของเมียนมา

23 ส.ค. 2563 | 21:20 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2563 | 09:47 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

         วันนี้เศรษฐกิจของทุกๆ ประเทศในโลกใบนี้ ทุกคนก็เข้าใจกันหมดว่าปั่นป่วนไปทั่ว หลังจากเจ้าวายร้าย COVID-19 เข้ามาอาละวาดทุกบ้านทุกเมือง ประชากรโลกที่ติดเชื้อ COVID-19 พุ่งทะลุเพดานขึ้นสูงถึง 23 ล้านคนไปแล้ว ในขณะที่ผู้เสียชีวิต 8 แสนกว่าคน ซึ่งก็ขึ้นสูงตามไปด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจทั้งโลกยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยครับ นี่เพิ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของสภาวะเศรษฐกิจของโลกนะครับ ที่ตามมาข้างหลังในอีกครึ่งปีถึงหนึ่งปีข้างหน้านี้ จะเป็นอย่างไรนั้นไม่อยากจะมโนไปเองเลยครับ มันน่ากังวลไปหมด

         ในขณะที่ประเทศไทยเอง เราแม้จะสามารถควบคุมได้ดีกว่าประเทศอื่นอีกหลายๆ ประเทศ (ตามที่หลายๆ สำนักในต่างประเทศพูด ไม่ใช่ผมพูดเองนะครับ) แต่สภาพของเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีไปกว่าประเทศอื่นสักเท่าไหร่ เงินหายกำไรหดเป็นเรื่องปกติไปแล้วครับ ผมก็พยายามที่จะบอกว่า “เป็นกันทั้งโลก” นะครับ ต่อให้เทวดากลับชาติมาเกิด ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาไปได้หรอกครับ

         เอาพูดแบบปุถุชนคนธรรมดาแบบง่ายๆ ฟังง่ายๆ ก็ต้องอธิบายว่า ตลาดยุโรปวันนี้ ไม่มีกำลังซื้อแล้วครับ โดยเฉพาะที่อังกฤษ ฝรั่งเศษ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ที่ผมมีลูกค้าอยู่ที่นั่น ที่เคยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผมเป็นประจำ ออเดอร์หดลงอย่างหน้าใจหาย เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยครับว่า เมื่อไหร่จะกลับมาเหมือนเดิม ที่สหรัฐอเมริกา หุ้นส่วนผมเป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าเอเซียที่นิวยอร์ค เขาก็บ่นเหมือนกัน ว่าค้าขายหดลงไปไม่น้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ แล้วผู้ผลิตหรือโรงงานในประเทศไทย จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ ล้วนแล้วแต่พึ่งพาอาศัยตลาดเหล่านี้หมด เขาปิดบริษัทหรือพยายามลดขนาดของบริษัท ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายหรอกครับ แล้วผู้ประกอบการSMEไทยละ จะไปเหลือเหรอ? เรามาปลอบกันเองเถอะครับว่า “เอาความเจ็บปวดครั้งนี้ ให้เป็นพลังผลักดันกันเดินไปข้างหน้าเถอะครับ” อย่ามัวแต่โทษโน่น นี่ นั่นเลยครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การรุกตลาดเมียนมาหลัง COVID19

มองเมียนมาดึงนักลงทุนต่างชาติ

เมียนมาเตรียมออกกฎหมายการลงทุนใหม่

ข้อควรระวังทางด้านกฎหมายของผู้ประกอบการที่ลงทุนในเมียนมา

         เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ที่ผ่านมา ผมไปบรรยายที่ขอนแก่น ผมก็ได้แต่บอกผู้ประกอบการว่า ให้มองตลาดในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านก่อนเถอะ อย่าเพิ่งฝันไปไกลเลย เพราะตลาดใหญ่เหล่านั้นเขาเองก็ลำบากมาก เราต้องช่วยตัวเองให้มากๆ และมองใกล้ๆบ้านเราไว้ก่อนนะครับ ที่ผมอยากจะบอกว่าวันนี้ตลาด CLMV ยังมีชายแดนที่เราสามารถทำมาหากินได้นะครับ ดังนั้นอย่าเพิ่งถอดใจไปซะก่อนละ สู้ๆๆๆๆ

         ในประเทศเมียนมาหลังจากเจ้าวายร้าย COVID-19 ผ่านไป ยังดีกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคนะครับ เพราะเหตุผลที่เขาเป็นประเทศที่ยังไม่ขยับขึ้นเป็นประเทศกำลังพัฒนา (ผมไม่อยากใช้ประเทศด้อยพัฒนานะครับ เพราะจะเป็นการดูแคลนเขา ไม่มีใครชอบฟังคำพูดที่ทำให้เขาดูต่ำต้อยหรอกครับ) ดังนั้นเขาจึงได้รับการช่วยเหลือจากประเทศที่ใหญ่กว่าเขา และสถาบันการเงินที่สำคัญในโลกเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ทั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศไทย ต่างร่วมวงไพบูลย์ไปช่วยเขา

         หลายคนคงจะทราบมาบ้างแล้วว่า ประเทศไทยเราโดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ NEDA ก็เข้าไปทำโครงการหลายโครงการให้กับเขา อีกทั้งสถาบันการเงินอย่างธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asia Development Bank) และกองทุน IMF ต่างก็เข้าไปช่วยเหลือหลายครั้ง ตามที่ผมเคยเล่าในคอลัมน์นี้ให้อ่านไปแล้ว ดังนั้นที่ประเทศเมียนมาจึงมีกระแสเงินสดในระบบอย่างพอเพียง หรืออาจจะมากกว่าประเทศอื่นๆที่เป็นเพื่อนบ้านเราก็ได้ครับ อีกสิ่งหนึ่งที่หากเกิดขึ้นทุกครั้ง ก็จะมีกระแสเงินแพร่สะพัดทุกครั้งคือ “การเลือกตั้ง” ในวันที่ 8 เดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้งในรอบ 5 ปี จึงเชื่อได้ว่าจะทำให้มีกระแสเงินสดเข้าสู่ระบบไม่น้อย ซึ่งก็จะทำให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างแน่นอนครับ

         ที่ผมได้สัมผัสและได้ทราบข่าวจากพนักงานที่ย่างกุ้งประจำ คือการดำเนินการของโครงการใหญ่ๆในประเทศเมียนมา ไม่ได้หยุดลงเลย จะหยุดไปบ้างก็เป็นโครงการที่ขนาดเล็กและขนาดกลางเท่านั้น แต่ที่สำคัญอีกอย่างคือผู้ประกอบการเมียนมา เขาไม่นิยมกู้เงินมาลงทุน (อาจเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์เขาไม่ให้กู้) ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องกังวลเรื่องดอกเบี้ยมากนัก ไม่เหมือนบ้านเรา ที่หากกู้เงินมาก ดอกเบี้ยวิ่งเร็วยังกับดอกเห็ดในฤดูฝนเลย ดังนั้นเขาจึงยังคงอยู่ได้อย่างไม่เจ็บไม่คันมากเหมือนเรา จะมีเพียงตลาดที่ซบเซาลงไปบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติครับ ถ้าบอกว่าตลาดยังดีเหมือนเดิมอยู่ ก็โกหกละครับ ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ที่ยังสามารถคงสภาพได้ดีอยู่หรอกครับ 

         ทางกระทรวงพาณิชย์โดยฯพณฯท่านรัฐมนตรีช่วยวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ได้ร่วมกับสภาธุรกิจไทย-เมียนมา สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันจัดงานสัมมนา “ทิศทางและแนวโน้มตลาดเมียนมา....จากเหตุการณ์ COVID-19” ขึ้นที่กระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ ท่านที่สนใจก็รีบสมัครได้นะครับ เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าจะมีที่นั่งเหลือหรือเปล่า เพราะเป็นงานสัมมนาฟรีตลอดงาน รีบโทรไปที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา 02-3451151 และ 02-3451233 นี่เป็นเพียงก้าวแรกนะครับ ก้าวต่อไป ฯพณฯท่านรมช. วีระศักดิ์ จะเป็นผู้นำทีมนักธุรกิจเดินทางไปย่างกุ้ง เพื่อพบปะผู้ประกอบการเมียนมาที่เป็นตัวจริงเสียงจริงด้วยตัวท่านเองครับ