โจทย์ใหญ่ “ประยุทธ์” เมื่อราคาข้าวดิ่งเหว

11 ก.ย. 2563 | 10:30 น.

โจทย์ใหญ่ “ประยุทธ์” เมื่อราคาข้าวดิ่งเหว : คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3609 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย.63 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

โจทย์ใหญ่“ประยุทธ์”

เมื่อราคาข้าวดิ่งเหว
 

     สถานการณ์ราคาข้าวดำดิ่งลงอย่างน่าใจหาย เมื่อเข้าสู่ต้นเดือน ก.ย. แม้จะมีความพยายามออกมายืนยันว่าราคายังคงมีเสถียรภาพและทรงตัวดีกว่าปีก่อน
 

     อย่างไรก็ดี ต้องยอมว่ารับสถานการณ์ราคาข้าวช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว ราคาจะดิ่งลงเป็นเรื่องปกติ เพราะข้าวจะทะยอยออกสู่ตลาดในปริมาณมาก กดราคาให้ต่ำลง และรัฐบาลมักจะเข็นมาตรการออกมาแทรกแซงข้าวในช่วงต้นเดือนต.ค.ของทุกปี
 

     บางปีแทรกแซงด้วยการจำนำตรงๆ ที่ได้บทเรียนราคาแพง ด้วยการขาดทุนบักโกรกจากการทุจริตแบบอภิมหาโกง ต้องเข้าคุกตารางกันไปหลายราย บางปีแทรกแซงด้วยการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต บางปีแทรกแซงด้วยการจำนำยุ้งฉาง บางปีแทรกแซงด้วยประกันรายได้

     ปีนี้เกิดความไม่ปกติขึ้นอย่างน้อย 2-3 ประการ ที่ทำให้ข้าวไทยดำดิ่งลง
 

     1 คือโรงสีขาดสภาพคล่องในการรับซื้อข้าว อันนี้เกิดจากความไม่มั่นใจสถานการณ์ของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อโรงสี ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่ว ทั้งเศรษฐกิจภาพรวมและภาคธนาคารเอง ก็เกิดความกังวลในการปล่อยสินเชื่อ
 

     1 คือผลผลิตข้าวเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ระบายออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงนี้ และด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกว่าไทย ทำให้โค้ดราคาขายต่ำกว่าข้าวไทยมากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อตัน ส่งผลให้คู่ค้าหนีไปลงออเดอร์จากเวียดนามแทน
 

     1 คืออัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทไทยแข็งกว่าด่องเวียดนามอยู่พอสมควร และเป็นระยะเวลานานมากแล้ว การโค้ดราคาให้ไม่ห่างกันมากของผู้ส่งออก จึงไม่สามารถกระทำได้ ต้องขาดทุนเจ็บตัวมากมายทันที หากจับราคาขาลงไปเรื่อยๆ ผู้ส่งออกจึงชะลอการรับซื้อข้าวในประเทศออกไป ราคาภายในจึงดิ่งลง
 

     ต้องยอมรับว่าข้าวไทยเป็นปัญหาหมักหมม ตั้งแต่โครงการรับจำนำทุกเม็ดสูงกว่าตลาดในอัตราที่สูงมาก ที่ไปทำลายทุกองคาพยพที่เกี่ยวกับข้าวให้เสียหาย
 

     ชาวนาก็เสียหายจากระบบการผลิตที่ด้อยประสิทธิภาพ ในช่วงของการจำนำมุ่งผลิตโดยไม่คำนึงสายพันธุ์ เอาข้าวระยะสั้นลงนาเพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ เข้าโครงการ ผลผลิตต่อไร่ของไทยยืนที่ 400-600 ก.ก.ต่อไร่มานาน ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามทำได้ที่ 900-1100 ก.ก.ต่อไร่ แล้วจะสู้กันไหวอย่างไร

     โรงสีเองมีกำลังการผลิตส่วนเกินพุ่งสูงถึง 90-100 ล้านตันต่อปีในภาพรวม เพื่อเป็นจิ๊กซอของโครงการจำนำในขณะนั้น ขณะที่ไทยผลิตข้าวกันอยู่ที่ 30-35 ล้านตันต่อปี กำลังการผลิตส่วนเกินเมื่อหมดจำนำไปแล้ว จึงไม่รู้จะดำเนินการให้มีประสิทธิภาพอย่างไร
 

     ผู้ส่งออกเองก็ง่อยเปลี้ยเสียขา หลังจากโครงการจำนำ ที่ข้าวถูกรวบไปไว้กับรัฐทั้งหมด ก่อนปล่อยให้ผู้ส่งออกเฉพาะรายนำไปเซ็งลี้ ต้องยอมรับว่าแม้สถานการณ์ขณะนี้ก็ไม่เข้าสู่ปกติในทางการค้าข้าวของโลก ตลาดข้าวโลก


 

     คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรในสถานการณ์นี้ ให้พี่น้องชาวนายืนหยัดอยู่ได้ มีที่ขายในราคาพอสมควรที่สามารถยังชีพได้ องคาพยพอื่นเดินได้
 

     ผู้ที่อยู่ในวงจรการค้าข้าวทั้งระบบต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวกับข้าวทั้งหมด
 

     ต้องวางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับข้าวใหม่ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ จุรินทร์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ข้าวไทย เริ่มดำเนินไปบ้างแล้ว เบื้องต้นที่เห็นใช้ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" แบ่งข้าวออกเป็น 7 ชนิด ประกอบด้วย 1.ข้าวหอมมะลิ 2.ข้าวหอมไทย 3.ข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม 4.ข้าวพันธุ์พื้นแข็ง 5.ข้าวนึ่ง 6.ข้าวเหนียว และ 7.ข้าวที่มีตลาดเฉพาะข้าวสี
 

     ด้านตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นในเรื่องการสนองต่อความหลากหลายของตลาดข้าว ซึ่งมีความต้องการข้าวที่หลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง ตลาดในประเทศ จะดำเนินการในการสร้างสมดุล
 

     ด้านการผลิตจะลดต้นทุนให้เหลือไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท จากปัจจุบันเฉลี่ยไร่ละ 6,000 บาท เพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี เน้นเป้าหมายสั้น เตี้ย ดก ดี เพิ่มการแปรรูปและนวัตกรรมสนองความต้องการของตลาด
 

ความเคลื่อนไหวราคาข้าวเปลือกในรอบ 1 สัปดาห์

     โจทย์ใหญ่ไปอยู่ที่การลดต้นทุนการผลิต ที่รัฐบาลต้องออกแรงแข็งขันเพราะเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนทั้งการกำหนดเป้าหมาย3พันบาทต่อไร่ต้องไม่ลอยๆ ต้องทำหลายด้านพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ลดต้นทุนหลังการเก็บเกี่ยว ลงทุนระบบชลประทาน
 

     แต่ในยุทธศาสตร์ไม่เห็นการปรับลดพื้นที่ปลูกข้าวและหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน แต่การไปปลุกพืชอื่นทดแทนต้องมีตลาดรองรับ และไม่ให้เกิดประเดี๋ยวประด๋าวและตามแห่กันไปและทิ้งให้ชาวนาอยู่ตามลำพังเมื่อถึงปลายทาง อย่างกรณีให้หันไปปลูกพืชพลังงานทดแทน แต่กลับไปดับฝันโรงไฟฟ้าชุมชน อย่างนี้ถือเป็นความไม่รับผิดชอบและลอยแพชาวนาของรัฐบาล
 

     กระทรวงพาณิชย์เอง ก็ต้องทำการบ้านให้มากกว่านี้ ในการทำยุทธศาสตร์ข้าวใหม่ ให้เกิดความยั่งยืน
 

     ไม่ใช่ฟังๆ กันเฉพาะในบรรดาที่ปรึกษาไม่กี่คน แล้วกำหนดนโยบาย หรือฟังกันแต่พวกพ่อค้าขาประจำ
 

     ข้าวคือชีวิต เรื่องใหญ่สำหรับประชาชนคนไทย
 

     พล.อ.ประยุทธ์ ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้
 

     อย่าให้ชาวนาเขาต้องเคลื่อนทัพลงถนนอีกเลย!!​​​​​​​