ชายแดนอันตราย

18 ม.ค. 2564 | 01:00 น.

ชายแดนอันตราย : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

ต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา หลายท่านคงจะได้รับข่าวสารชายแดนฝั่งเมืองเมียวดี ตรงกันข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากแล้วนะครับ ซึ่งได้มีข่าวใหญ่ที่ทราบมาจากข่าวทั่วๆไป เรื่องการบีบบังคับให้หัวหน้าทหารกระเหรี่ยงใหญ่ลาออกจากตำแหน่ง สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนที่ทราบเส้นสนกลในเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงหากไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากนายทหารที่มีอาวุธและกำลังอันทรงอานุภาพครบอยู่ในมือ นั่นหมายถึงความสับสนวุ่นวายจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เลยครับ

ผมคงจะไม่ต้องกล่าวย้อนไปให้ไกล ถึงเมื่อปี 2554 ได้มีการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือชื่อย่อว่า BGF (Border Guard Force) ของกองกำลังกระเหรี่ยงแล้วกระมังครับ เพราะเชื่อว่าคนไทยเกือบทั่วไป คงจะทราบที่มาที่ไปของการสู้รบกันของกองกำลังกระเหรี่ยงพุทธกับกองกำลังกระเหรี่ยงคริสต์ ที่มีอยู่มาช้านาน จนกระทั่งในช่วงหลังมานี้ ได้เกิดการสวามิภักดิ์ของกลุ่มกองกำลังทหารกระเหรี่ยงต่อรัฐบาลกลาง และทางการเมียนมาจึงได้ให้มีการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ชายแดน(BGF) เกิดขึ้น เพื่อให้กลุ่มกองกำลังที่มีอยู่เหล่านั้น แบ่งเป็นกองพันต่างๆร่วมสิบกองพัน และมีนายทหารหนุ่มที่มีความสามารถสูง เข้าควบคุมกองพันต่างๆเหล่านั้นไว้ ซึ่งนายทหารหนุ่มมากความสามารถนี้เช่น ท่านนายพล อู ชิต ตู่ ท่านนายพล โมะ โต่ง และท่านนายพล โบ ติ่น วิน เป็นต้น ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีกองกำลังที่เข้มแข็งมากๆ มาช่วยกันรักษาพิทักษ์ชายแดน ให้เกิดความสงบสุขมานานเกือบสิบปี

ข่าวแจ้งมาว่าเมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ได้มีคำสั่งให้ผู้กุมกำลังทั้งหมด เดินทางไปพบผู้บัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ ท่านพล.ตรี โก โก่ อ่อง ที่ดูแลพื้นที่นี้อยู่ที่เมืองเมาะละแหม่ง และมีการขอให้ลาออกจากตำแหน่ง ส่วนรายละเอียดเราคงมิอาจจะไปวิเคราะห์หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศเมียนมาเขานั่นเอง
     

สิ่งที่ผมอยากจะนำมาวิเคราะห์ให้อ่านเพื่อจะได้เตรียมพร้อม และระมัดระวังนั้น คือผลที่จะติดตามมา หากการตกลงไม่สามารถมีผลสำเร็จได้ คือผลที่จะตามมาเราอาจจะคาดไม่ถึงได้นั่นเองครับ คงจำกันได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา กองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมา ได้เข้าปราบปรามกองกำลังอะรากันที่รัฐยะไข่ ในขณะที่มีการปะทะกันทั้งสองฝ่าย สิ่งที่ตามมาคือพลเรือนหรือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตการสู้รบ ได้อพยพหนีภัยสงคราม หรือที่เรียกว่า “หนีลูกหลง” เข้ามาสู่เขตเมือง จึงทำให้เป็นภาระกับฝ่ายรัฐบาลต้องจัดตั้งค่ายอพยพขึ้น ที่เมืองชิตต่วย รัฐยะไข่ จึงเป็นต้นเหตุให้เกิดการระบาดของเจ้าวายร้ายผีน้อย COVID-19 ระลอกสองเกิดขึ้นที่นั่น

จากนั้นเมื่อมีการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ ที่แน่นอนเขาเองก็ไม่สามารถที่จะควบคุมได้อยู่ พอมนุษย์ที่เป็นพาหะในการนำเชื้อร้ายนี้เข้ามาสู่ย่างกุ้ง จึงได้เกิดการระบาดจนกระทั้งมาถึงจุดของวันนี้นั้นเอง ในกลางเดือนสิงหาคม พอผมเห็นสภาพของการเคลื่อนย้ายของคนเข้ามาสู่เมืองย่างกุ้ง ผมก็ตื่นตระหนกตกใจมาก สภาธุรกิจไทย-เมียนมาเรามีการตั้งทีมงานขึ้นมาวิเคราะห์ผลที่จะตามมาทันที ซึ่งก็ไม่เหนือความคาดหมายครับ จึงได้เกิดปัญหาโรคระบาด COVID-19 ที่เราๆท่านๆทราบในวันนี้นี่แหละครับ

หันมาดูเหตุที่กำลังเกิดขึ้นในฝั่งชายแดนติดบ้านเราฝั่งอำเภอแม่สอดบ้าง ที่ผมได้ทราบข่าวมาเมื่อวันเสาร์ที่ 16 มกราคมที่ผ่านมานี้ ทางการทหารของรัฐบาลเมียนมา โดบท่านพล.ตรี โก โก่ อ่องได้มีการเดินทางมาร่วมประชุมกับกลุ่มนายพลทหารหนุ่มที่กุมกำลังในพื้นที่ชายแดน ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน(BGF) เพื่อหาข้อยุติไม่ให้มีเหตุการณ์บานปลาย แต่เสียงที่ออกมาจากการข่าวภายในและสื่อทั่วๆไป ผมเองก็ค่อนข้างจะสับสนเช่นกัน เพราะสื่อของหลายๆฝ่ายให้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็บอกว่าตกลงกันได้แล้ว บ้างก็บอกว่าตกลงกันไม่ลงตัว เลยไม่รู้ว่าผลจริงๆแล้วคืออะไร (ถ้าทราบผลที่ชัดเจน ผมจะนำมาเสนอต่อไปครับ) อย่างไรก็ตาม เราคงต้องเตรียมตัวเราให้ดี เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเมืองชิตต่วย รัฐยะไข่นะครับ 

 

หากการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยดี ซึ่งเราเองก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะเราอยากเห็นประเทศเมียนมาเดินหน้าไปในทิศทางสันติสุข แต่ถ้ามันเกิดขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อนๆที่อยู่ชายแดนคงจะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเรามากขึ้นนะครับ เพราะถ้าเกิดขึ้นแล้ว จะต้องมีการหนีภัยสงครามการสู้รบของชาวบ้านตาดำๆชาวเมียนมา นั่นจะยากลำบากมากในการป้องกันการหนีข้ามแดนเข้ามาทางด่านธรรมชาติอีกแล้ว ดังนั้นจะเป็นงานหนักมากสำหรับทีมงานสาธารณสุขของเรา อีกทั้งกองกำลังที่เฝ้าระวังชายแดนเราเองก็จะลำบากใจ ตามหลักมนุษยธรรม เราคงไม่สามารถในการที่จะผลักดันไม่ให้เขาหลบหนีเข้ามา

นี่คือผลที่จะตามมาครับ แล้วเราจะทำกันอย่างไรดีละครับ สิ่งที่จะต้องทำสำหรับชาวบ้านทั่วไปตามชายแดนไทย คือ ต้องช่วยกันสอดส่องดูว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชนเราหรือไม่ หากมีต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบโดยด่วน จากนั้นก็ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะต้องนำตัวไปยังสถานที่ เพื่อจะได้ตรวจสอบหาเชื้อโรคระบาดCOVID-19 อย่างเร่งรีบ แม้จะมีหรือไม่มีเชื้อโรคระบาด ก็จำเป็นต้องมีการกักกันบริเวณไม่ให้เขาออกมาแพร่เชื้อหรือเพ่นพ่านนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะเกิดประวัติศาสตร์รัฐยะไข่ซ้ำรอยเกิดขึ้นที่เมืองเมียวดีอีกแน่นอนครับ

ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทางฝั่งชายแดนไทยทุกคนด้วยนะครับ แล้วเราจะฝ่าฟันเจ้าวายร้ายผีน้อย COVID-19 ไปด้วยกัน อีกไม่นานเกินรอ วัคซีนป้องกันก็จะเข้ามาสู่ประเทศไทยแล้วครับ ขอให้อดทนกันอีกหน่อยนะครับ