“รัฐประหารเมียนมา” : ลามกระทบการค้า-ลงทุน(แล้ว)

11 ก.พ. 2564 | 06:22 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์รัฐประหารในเมียนมา เริ่มส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว และข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น

“รัฐประหารเมียนมา”  : ลามกระทบการค้า-ลงทุน(แล้ว)

 

“รัฐประหารเมียนมากระทบการค้าและการลงทุนในเมียนมาหรือไม่” เป็นคำถามที่ผมถูกถามบ่อยมาก ขอตอบตรงนี้เลยว่า “กระทบการค้าและลงทุนในเมียนมา 100%”

 

โดยก่อนหน้านี้เศรษฐกิจเมียนมาได้รับผลกระทบจากโควิดหนักอยู่แล้ว เห็นได้จากรายงานของ “International Food Policy Research และ USAID (June 4, 2020)” ได้ประเมินผลกระทบโควิดจะทำให้ GDP เมียนมาลดลงไป 41% ตัวเลข GDP ของก่อสร้างลดลงมากที่สุดถึง 80% ตามด้วย GDP ภาคบริการลดลงไป 56% และ GDP ด้านอุตสาหกรรมลดลงไป 52% และจะทำให้แรงงานใน “เมียนมาตกงาน 5.3 ล้านคน”

 

การปฏิวัติรอบนี้จะซ้ำเติมเศรษฐกิจเมียนมาให้ต่ำลงไปอีก “บริษัท Fitch Rating” ได้ประเมินว่าผลของปฎิวัติทำให้ GDP เมียนมาในปี 2021 ลดลงเหลือ 2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.6%  สถานการณ์ขณะนี้คือมีการประท้วงตามทุกเมืองของเมียนมาจากทุกสาขาอาชีพและสถานการณ์น่าจะบานปลายเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะได้รับผลกระทบ “หนัก” แม้ว่ารัฐบาลทหารประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่สามทุ่มถึงตีสามและห้ามการชุมนุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป แต่ประชาชนชาวเมียนมาก็ไม่กลัว เพราะ 1.ยุคสมัยเปลี่ยนไป การติดต่อสื่อสารง่าย การรับรู้ข้อมูลข่าวสารง่าย 2.คนเมียนมาไม่อยากจะ “ยากจนอีกต่อไป”

 

“รัฐประหารเมียนมา”  : ลามกระทบการค้า-ลงทุน(แล้ว)

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ารายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีในปี 2019 ของเมียนมา “ต่ำสุดในอาเซียน” หากคิดเป็นต่อเดือน คนเมียนมามีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท ต่ำกว่าคน สปป.ลาวที่มีรายได้มากกว่า 2 เท่า 3.คนเมียนมาทำงานในอาเซียน ได้เห็นว่าความเจริญของประเทศเหล่านั้น อยากให้ประเทศตนเองพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม จึงไม่อยากจะเห็นประเทศตนเองแย่ลงไปอีก

 

สิ่งที่เราต้องติดตามต่อไปก็คือว่าสถานการณ์จะถูกพัฒนาไปทิศทางใดนอกจากจะได้รับแรงกดดันจากประเทศตะวันตกแล้ว นายพลทหารเมียนมาก็กดดันเช่นกันว่าจะจัดการเหตุการณ์ในเมียนมาอย่างไร

 

ผมคิดว่า หัวหน้ารัฐบาลทหารมีทางเลือก 4 ทางขณะนี้ คือ 1.รีบปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี แต่กรณีนี้ก็มีความเสี่ยง เพราะนางอองซานจะเป็นผู้นำประท้วงเสียเอง 2.จัดการเลือกตั้งก่อน 1 ปี 3.รีบทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้นโดยเร็ว อันนี้งานหิน และ 4.รีบเจรจากับคนประท้วง และพรรค NLD เพื่อหาทางออกร่วมกัน

 

“รัฐประหารเมียนมา”  : ลามกระทบการค้า-ลงทุน(แล้ว)

 

สำหรับผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง ผมประเมินว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ คือ 1.อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ถือว่าเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจเมียนมา มีการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านคนในอุตสาหกรรมนี้ มีทั้งบริษัทเมียนมาและบริษัทต่างชาติ บริษัทต่างชาติได้แก่ H&M, Adidas,  GAP,  Marks & Spencer, Muji, C&A และ Esprit เป็นต้น  โดยตลาดหลักคือ ยุโรป และ อเมริกา รวมกัน 80% สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละ 2 แสนล้านบาท สิ่งที่สมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าสหรัฐฯ กังวลในระยะสั้นคือ ระบบการขนส่งสินค้า คลังสินค้า และความปลอดภัยของแรงงาน ในขณะที่ระยะยาวกังวลการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตก ทำให้ส่งออกไม่ได้ ขณะเดียวกัน แรงงานหยุดงาน

“รัฐประหารเมียนมา”  : ลามกระทบการค้า-ลงทุน(แล้ว)

 

2.โรงงานรถยนต์ญี่ปุ่นหยุดการผลิต ส่วนใหญ่ตั้งใน “Thilawa SEZ” ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์ซูซูกิ หยุดผลิต 2 โรงงานจากทั้ง 3 โรงงาน โรงงานบริษัทโตโยต้า ผลิตกระบะ HiLux บริษัท Mitsui ที่ทำเครื่องจักรทางการเกษตร ให้ทำงานที่บ้าน

 

3.บริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจทหารเมียนมา โดยบริษัททหารเมียนมามี 2 กลุ่มบริษัทคือ 1.Myanma Economic Holding Limited (MEHL) ตั้งเมื่อ กุมภาพันธ์ 1990 ทหารถือหุ้น 60% มีหลากหลายธุรกิจ เช่น Myawaddy Bank, Myawaddy Tours & Travel, Myawaddy Enterprises Group และ Pyininbin Industrial Park,  Bandula Transportation, Myawaddy Trading, Five Stars Ship Company, Virginia Tobacco Company Limited, Myawaddy Enterprises Group, UMEH Textile, Jade mines, Ruby and sapphire mines 2.Myanmar Economic Corporation (MEC) ตั้งเมื่อปี 1977 ตั้งในย่างกุ้ง มีธุรกิจคือโรงงานเหล็ก ธนาคาร โรงงานซีเมนต์ และประกันภัย โดยทั้ง 2 บริษัทมีการร่วมทุนกับนักลงทุน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม โดย MEHL ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ MEC ลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ และการสื่อสาร ขณะนี้ บริษัทเบียร์ญี่ปุ่น “Kirin” และบริษัท “Razer” ของสิงคโปร์ถอนหุ้นออกจากบริษัท “Virginia Tobacco Company”

 

 4.แรงงานเมียนมา “บอยคอต” ธุรกิจที่เป็นของทหารในข้อที่ 3 ขณะนี้คนเมียนมาไม่ทำงานให้ ธุรกิจจึงต้องหยุดชะงัก สำหรับการค้าขายจะได้รับผลกระทบจาก 1. เศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำ 2.รายได้ในปี 2021 คนเมียนมามีกำลังซื้อลดลงที่มาจากโควิดและการปฏิวัติ  และ 3.ราคาสินค้าจะแพงขึ้น สถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร “อย่ากะพริบตาครับ”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ไบเดน" ลั่นคว่ำบาตรเมียนมาหลังเหตุปะทะเดือด เรียกร้องนานาชาติร่วมกดดันอีกทาง

เสียงปืนลั่นแล้ว ม็อบเมียนมาเจ็บสาหัสเซ่นประท้วงรัฐประหาร

ระนองจับตารัฐบาล‘เมียนมา’ เอกชนหวั่นกระทบแผนลงทุน

แจง รัฐประหารเมียนมา “มิน อ่อง หล่าย’ ส่งจดหมายถึง “บิ๊กตู่”

เหตุการณ์ประท้วงต้านเผด็จการทหารในเมียนมาส่อเค้าบานปลาย หวั่นนองเลือด