ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะควบคุมโรคโควิด-19 ได้ การฉีดวัคซีนต้องบรรลุให้ถึงเป้าหมาย จึงขอเชิญชวนประชาชนให้มาฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ถึงเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และสามารถเปิดประเทศได้
ทั้งนี้ ยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีการใช้ในโลก มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงมาก เกือบถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่คนกังวลเรื่องผลข้างเคียง การฉีดวัคซีนทุกชนิดสามารถเกิดปฏิกิริยาทางร่างกายขึ้นได้ เช่น เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือเป็นไข้ ถือเป็นอาการเล็กน้อยหายเองได้
ส่วนกรณีอังกฤษฉัดวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนเก้าไปแล้ว 17 ล้านโดส พบผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตัน 20 คน เสียชีวิต 7 คน คิดเป็น 1 ในแสนถึง 1 ในล้านโดส ถือว่าไม่แตกต่างจากกรณีการเกิดเส้นประสาทอักเสบหลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ต้องรอพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในภาวะฉุกเฉินพิจารณาแล้วว่าการใช้วัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะได้รับจากวัคซีน
ขณะที่การฉีดวัคซีนในเด็ก เนื่องจากวัคซีนทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าใช้ในคนอายุมากกว่า 18 ปี แต่อนาคตเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีก็มีโอกาสได้ใช้วัคซีน เพราะขณะนี้เริ่มมีการวิจัยวัคซีนในเด็กอายุ 12-18 ปี ก็ต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนออกมา แต่เบื้องต้นพบว่ามีประสิทธิภาพดี
ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่่มเติมว่า การฉีดวัคซีนโควิด- 19 ในคนจำนวนมากและครอบคลุมมากเพียงพอ จะช่วยลดจำนวนโรคและอัตราการเสียชีวิตลง เช่น อิสราเอลมีอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรสูงสุดในโลก เริ่มให้วัคซีนตั้งแต่ธันวาคม 2563 ในบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
ก่อนขยายไปยังกลุ่มอายุต่างๆ โดยกุมภาพันธ์ 2564 ฉีดตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป เมื่อฉีดครบถ้วนจะได้รับบัตรเขียว สามารถไปผับบาร์ รับประทานอาหารในร้าน ดูหนังได้ ทำให้ผู้ติดเชื้อที่เคยสูงสุด 6 พันรายต่อสัปดาห์ เหลือหลักร้อยรายต่อสัปดาห์ อัตราเสียชีวิตเหลือหลักสิบรายต่อสัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนในประชาชนหมู่มากได้ผลชัดเจนโรคสงบลง
ขณะที่อังกฤษรณรงค์ฉีดวัคซีนต่อเนื่องลดอัตราป่วยและเสียชีวิตลงได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ระบาดรวดเร็ว แต่ไม่กระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่ฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ อัตราเสียชีวิตยังไม่ลดลง
ส่วนสหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนได้มากเช่นกัน ผู้ติดเชื้อจากแสนรายต่อวันก็เหลือ 5-6 หมื่นรายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกฉีดวัคซีนได้เพียง 650 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของประชากรโลกที่มี 7 พันล้านคน โดยมีอัตราการฉีดวันละประมาณ 15 ล้านโดส หากจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรโลกภายใน 1 ปีต้องเพิ่มอัตราการฉีดให้ได้วันละ 30 ล้านโดส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภัตตาคาร แกรนด์ เชียงการีลา สาขาธนิยะ ปิดร้านชั่วคราวหนีโควิด-19
กทม.เผยไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 67 ราย พบเดินห้าง-ร้านอาหารดัง
"ภูเก็ต"ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 100,000 โดสแล้ว
เร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ตำรวจเสี่ยงสูงกว่า 5,000 นาย ทั่วประเทศ