วันที่ 13 เมษายน 2564 นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศไทยใช้ทั้งของซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพสูง โดยวัคซีนของซิโนแวคที่มีข้อมูลว่ามีประสิทธิภาพป้องกันเพียงร้อยละ 50.4 นั้น ขอชี้แจงว่าเป็นข้อมูลการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งดำเนินการในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศบราซิลที่กำลังมีการระบาดอย่างมาก ถือเป็นวัคซีนตัวเดียวที่ศึกษาวิจัยในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม แม้จะป้องกันอาการไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงได้ร้อยละ 50.7 แต่ถือว่าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก ขณะที่ป้องกันติดเชื้ออาการปานกลางจนถึงรุนแรงได้ถึงร้อยละ 83.7 และป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามีประสิทธิภาพดี จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ
ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย จำนวน 61 ล้านโดส มีข้อมูลตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ว่า มีประสิทธิภาพป้องกันต่อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษได้ร้อยละ 70.4 ส่วนไวรัสที่ยังไม่มีการกลายพันธุ์ป้องกันได้ร้อยละ 81.5
“เราไม่สามารถจะนำตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนมาเปรียบเทียบโดยตรงได้ ต้องพิจารณาข้อมูลอื่นประกอบด้วย เช่นศึกษาในกลุ่มประชากรใด อย่างบุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำนวนมาก หรือศึกษาในพื้นที่ใด หากเป็นพื้นที่ระบาดก็มีโอกาสติดเชื้อมาก ผลการศึกษาจึงนำมาเทียบกับการศึกษาในชุมชนทั่วไปไม่ได้”
นายแพทย์นคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญคือการควบคุมโรคให้รวดเร็ว เนื่องจากยิ่งปล่อยให้มีการระบาดอาจเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นได้ ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การกลายพันธุ์จะเป็นอย่างไร อาจทำให้ติดเชื้อง่ายหรือยากขึ้น ความรุนแรงมากขึ้น เท่าเดิม หรือน้อยลง หรือจะกระทบกับวัคซีนหรือไม่ ดังนั้น ต้องพยายามหยุดการระบาดโดยเร็ว
“การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด เร็วที่สุด จะช่วยหยุดสถานการณ์การระบาด ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อวัคซีนและมารับวัคซีนที่โรงพยาบาลตามที่นัดหมาย วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มาถึงแขนเร็วที่สุด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาทบทวนความปลอดภัยแล้ว วัคซีนที่ไทยใช้เป็นวัคซีนที่ดีใช้การได้ เมื่อฉีดจำนวนมากจะยุติสถานการณ์การระบาดของโรคพร้อมกันโดยเร็ว ประเทศจะได้เปิด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง