อัพเดทวิธีหาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 มีช่องทางไหนบ้าง เช็คที่นี่

08 ก.ค. 2564 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 11:19 น.

วิกฤติหนัก เตียงผู้ป่วยโควิด-19 หลายคนมีความกังวลว่า หากพบว่าตนเองติดเชื้อ เต็มต้องทำอย่างไร จะติดต่อหาเตียงอย่างไร เเละจะเอาตัวรอดด้วยวิธีไหนหากติดโควิด-19 ที่นี่มีคำตอบ

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงวิกฤติ แทบจะทุกจุดในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น

คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเราติดโควิด ต้องทำอย่างไร ? ต้องติดต่อที่ไหน? ยิ่งในสถานการณ์ขาดแคลน เตียงผู้ป่วยโควิด แบบนี้ ถ้าไม่มีเตียงรองรับจะทำอะไรได้บ้าง? 

"ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการหาเตียงผู้ป่วย โดยเฉพาะช่องทางต่างๆ ที่จำเป็นต้องทารบเมื่อพบว่าติดเชื้อโควิด  

ติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไร
1.เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน เอกสารยืนยันผลตรวจโควิด
2.โทรประสานเตียง เพื่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา แจ้งรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของตนให้หน่วยงานที่รับเรื่อง หรือ กรอกข้อมูลใน แอดไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต)
3.งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด 
4.หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้
5.สวมใส่แมสก์ตลอดเวลาและแยกของใช้ส่วนตัว

สายด่วนช่วยหาเตียงโควิด
 1668 สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 เป็นสายด่วนเฉพาะกิจรับสายเวลา 08.00-22.00 น.ทุกวัน
 1330 สายด่วน สปสช.  รับสาย 24 ชั่วโมงทุกวัน
 1669 สายด่วนจัดหาเตียงในกทม. ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค สำหรับผู้ที่สงสัยอยากตรวจเชื้อ
 

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สายโทรศัพท์ 1668 ซึ่งเป็นการประสานหาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้มีปริมาณสายที่ติดต่อเข้ามาเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง  5 เท่า จนเกิดปัญหาการติดต่อเกิดความล่าช้า

กรมการแพทย์จึงร่วมกับบริษัทเอกชนและสมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย เร่งแก้ไขปรับระบบอย่างเร่งด่วนและเพิ่มขยายคู่สายในการประเมินอาการผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในกรมการแพทย์

รวมถึงในส่วนภูมิภาคอีก 3 โรงพยาบาล เพื่อประสานจัดสรรเตียงสำหรับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 จากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้ที่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 แนะนำให้ประเมินอาการตนเองเบื้องต้นก่อนว่ามีภาวะเร่งด่วนหรือภาวะฉุกเฉิน เช่น หอบเหนื่อยระหว่างสนทนาพูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจเร็ว หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก เวลาไอแล้วเหนื่อย หายใจไม่สะดวกขณะทำกิจกรรม หายใจแล้วเจ็บหน้าอก หมดสติ สับสน ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถสื่อสารด้วยตนเองได้ (กรณีผู้อื่นแจ้งแทน) ถ้ามีอาการเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่ง สามารถโทรติดต่อไปที่ 1669 ซึ่งเป็นสายสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินทันทีทันที เพื่อความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที

ส่วนกรณีเป็นผู้ป่วยรายใหม่ ไม่เคยโทรประสานเตียง 1668 มาก่อน  สามารถ add line ID : @1668.reg  กรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์มใน Google Sheet เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจัดหาเตียงได้ทันทีโดยไม่ต้องโทรเข้าสายด่วน 1668 ส่วนผู้ป่วยที่เคยโทรมาประสานหาเตียงแล้ว เจ้าหน้าที่จะโทรติดตามอาการวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะสามารถประสานหาเตียงได้
 

วิธีดูแลตนเองในขณะที่กำลังรอเตียงผู้ป่วย (คำแนะนำจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)
1.    กักตัวในห้องส่วนตัว ไม่อยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่หากจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือไม่มีห้องส่วนตัวแยก ให้เปิดหน้าต่างไว้ เพื่อให้อากาศถ่ายเทมากที่สุด
2.    หากระหว่างกักตัวจำเป็นต้องออกมานอกห้องหรือต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่กดลิฟต์ด้วยมือโดยตรง ควรใช้ปากกาหรือวัสดุอื่น ๆ  เป็นที่กดลิฟต์ และไม่ยืนพิงลิฟต์หรือสัมผัสลิฟต์
3.    กรณีอยู่คอนโด อพาร์ทเมนท์ หรือที่พักที่มีผู้อื่นร่วมด้วย ให้แจ้งเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 กับนิติบุคคล
4.    ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว เช่น อุปกรณ์รับประทานอาหาร แก้วน้ำ หากสั่งสินค้า Delivery ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ ทุกครั้ง ไม่ควรรับส่งของโดยตรงกับผู้อื่น
5.    แยกขยะ หากเป็นไปได้ควรแยกการใช้ห้องน้ำกับผู้อื่น แต่ในกรณีที่แยกไม่ได้ ให้พยายามใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างห้องน้ำหลังใช้ทุกครั้ง
6.    ล้างมือด้วยสบู่ น้ำสะอาด และใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย
7.    ดูแลตนเองให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวัน ทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง พยายามทำจิตใจให้สบาย เพื่อลดความวิตกกังวล
8.    หากมีอาการเจ็บป่วยมากหรือรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ให้ติดต่อสายด่วน 1669  1668  หรือโหลดแอปพลิเคชัน EMS 1669 เพื่อกดเรียกรถพยาบาลกรณีฉุกเฉิน