นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ 2 รุ่น ประกอบด้วย รุ่นวอลเล็ต สบม. ครั้งที่ 2 วงเงินจำหน่าย 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.70% ต่อปี โดยจะจำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งผู้ลงทุนสามารถโอนเงินจากพร้อมเพย์ทุกธนาคารเข้าวอลเล็ต เพื่อซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ได้ โดยซื้อได้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม – 11 กันยายน 2563 นี้
ส่วน รุ่นก้าวไปด้วยกัน (Moving Forward) วงเงินจำหน่าย 45,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 2.22% ต่อปี จำหน่ายผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย โดยสามารถซื้อผ่านธนาคารได้โดยตรงวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย โดยไม่จำกัดวงเงินซื้อต่อธนาคาร ซึ่งจะเปิดการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 วันที่ 26 สิงหาคม – 3 กันยายน 2563 ให้แก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และช่วงที่ 2 วันที่ 4 – 11 กันยายน 2563 จำหน่ายให้แก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย และนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง
“เชื่อว่ารอบนี้ก็จะได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะพันธบัตร สบม.รอบก่อน ก็จำหน่ายหมดภายใน 99 วินาที โดยรอบนี้จึงเปิดให้บุคคลทั่วไปซื้อ ไม่กำหนดการซื้อแรกเป็นผู้สูงอายุเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 4 ปี ใกล้เคียงกับเงินฝากในตลาดที่อยู่ที่ 1.5% ส่วนรุ่น 7 ปี ค่อนข้างสูงกว่าตลาดที่อยู่ที่ 1.15% ซึ่งที่ออกมานั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยากลงทุนในภาวะแบบนี้ ซึ่งประชาชนสามารถซื้อซ้ำกันได้ทั้งหมด ไม่จำกัด โดยวงเงินทั้ง 2 รุ่นไม่นับรวมกัน”นางแพตริเซีย กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง
พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น"วอลเล็ต-ก้าวไปด้วยกัน"คำนวณผลตอบแทนได้ที่นี่
รู้ก่อนซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ 2 รุ่น 50,000 ล้านบาท ดบ.สูง 2.2% เริ่มขาย 25 ส.ค.นี้
13 ข้อต้องรู้ก่อนลงทุนพันธบัตร รุ่น"วอลเล็ต-ก้าวไปด้วยกัน" วงเงิน 5 หมื่นลบ.
ดีเดย์ 25 ส.ค. กรุงไทย พร้อมขาย "พันธบัตรออมทรัพย์" ผ่าน "แอปเป๋าตัง"
ทั้งนี้การออกพันธบัตรครั้งนี้ เป็นเพราะไทยอยู่ในภาวะที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติ ที่ให้มีการปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งการกู้ดังกล่าวเป็นการบริหารเงินคงคลังอย่างหนึ่ง ไม่ให้เหลือน้อยจนเกินไป และกันไว้จ่ายเงินอุดหนุนของส่วนราชการในเดือนต.ค.นี้ด้วย จึงต้องการกู้ดังกล่าวไว้สำรองเงินไว้ในเงินคงคลัง
อย่างไรก็ตามสบน.จะกู้เพิ่มเต็มวงเงินที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ ต้องพิจารณารายได้ที่จะเข้ามาก่อนในช่วงเดือนก.ย.นี้ หลังจากที่เลื่อนการจัดเก็บรายได้ไปช่วงหนึ่งเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
“เงินคงคลังไม่ได้หมด แต่เหลือน้อย เพราะช่วงเวลาการจัดเก็บรายได้มันถูกเลื่อนออกไป เพราะโควิด-19 จึงต้องกู้เพื่อกันไว้ใช้กรณีที่รายได้ยังไม่เข้า โดยรายได้ก็จะเข้ามาในช่วงก.ย. แต่ยอมรับมีการประมาณการไว้ว่ารายได้จะหายไปประมาณ 9% หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท ซึ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เราก็เคยทำแบบนี้มาก่อน”นางแพตริเซีย กล่าว