เศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะถดถอย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่เจน เพราะยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ทั้งความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลก
ทำให้ตลาดการลงทุนทั่วโลกเกิดความผันผวน ไม่ว่าจะเป็น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ หรือแม้แต่ ทองคำ ทางเลือกการลงทุนที่ดีที่สุดทางหนึ่งคือ การลงทุนผ่านกองทุน เพราะมีผู้ดูแลกระจายการลงทุนให้เหมาะสม ทำให้ความต้องการลงทุนผ่านกองทุนต่างๆปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วันนี้จะนำเสนออีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่อิงกับระบบเศรษฐกิจและความผันผวนของตลาดทุน และไม่ใช่กองทุนทางเลือกอื่นๆที่มีในตลาดคือ การซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิตในตลาดรองหรือ Life Settlement
Life Settlemnt หรือ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ เป็นสินทรัพย์ทางการเงินประเภทหนึ่งที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ถือกรมธรรม์ให้สามารถขายกรมธรรม์ให้กับตัวกลางทางการเงิน ในกรณีที่ผู้ซื้อกรมธรรม์นั้นไม่สามารถรับภาระชำระค่าเบี้ยกรมธรรม์ได้อีกต่อไป หรือ มีความจำเป็นต้องเงินขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ปกติคนทั่วไปที่ต้องการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเองในการใช้ชีวิตของแต่ละคนซึ่งเมื่อผู้เอาประกันชีวิตเสียชีวิตลง ก็จะมีผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เอาประกัน เช่น คนในครอบครัว ฯลฯ
กรณีที่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต้องการเงินจากประกันที่ถืออยู่ จะต้องเวนคืนกรมธรรม์ หรือกู้เงินกรมธรรม์กับบริษัทประกันชีวิต แต่จะได้ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป หรืออีกทางคือ จำนองกรมธรรม์กับธนาคารพาณิชย์ แต่จะทำให้ผู้ถือกรมธรรม์มีทั้งภาระดอกเบี้ยเงินกู้ และเบี้ยประกัน
ไม่ดังนั้นจึงมีตลาดรองหรือ คนกลาง ที่จะเข้ามารับซื้อกรมธรรม์เหล่านี้ จากเจ้าของกรมธรรม์ที่มีปัญหาด้านการเงินไม่ว่าจะเป็นเจ็บป่วย ไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้อีกต่อไป โดยที่จะได้ราคาที่ดีกว่าการเวนคืนกรมธรรม์ ไม่มีภาระดอกเบี้ยและไม่เหลือภาระเบี้ยประกันอีกต่อไป
ผลตอบแทนจากการลงทุน จะมาจากวงเงินประกันที่บริษัทประกันต้องจ่ายให้กับผู้ได้รับผลประโยชน์ เมื่อผู้ทําประกันชีวิตเสียชีวิตลง หรือครบกําหนดอายุประกัน ยิ่งผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขของกรมธรรม์เสียชีวิตเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนมากขึ้นเท่านั้นดังนั้นความเสี่ยงของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ก็คือ การมีอายุยืนกว่าที่คาดการณ์ไว้
ปัจจุบันตลาดหลักของไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ อยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยมากกว่า 43 รัฐมีกฎหมายคุ้มครองการทำรายการซื้อขายกรมธรรม์ หรือ คิดเป็น 90% ของจำนวนรัฐที่มีกฎหมายคุ้มครองการทำธุรกรรม ซึ่งด้วยการมีกฎหมายคุ้มครองทำให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่น อีกทั้งตลาดดังกล่าวก็มีผู้เล่นเป็นบริษัทประกันภัยรายใหญ่ของโลก เช่น AXA, GE Capital, Cigna, AIG, PRUDENTIAL ที่เข้ามาลงทุน
ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ เป็นกองทุนที่มีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6-7 แสนล้านบาท ถือได้ว่า เป็นตลาดรอง เพื่อรับซื้อขายกรมธรรม์ที่ขาดการส่งต่อ และไม่ได้เวนคืนกรมธรรม์ เพราะเห็นว่า ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป ครั้นจะกู้เงินกรมธรรม์ หรือจำนองก็ต้องเสียดอกเบี้ย ยิ่งหากเกษียณ แล้วเจ็บป่วยหรือไม่มีเงินจ่ายเบี้ยประกัน แต่ยังต้องเสียดอกเบี้ยอีก มูลค่าเวนคืนก็ตํ่า
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้เปิดขายกองทุนส่วนบุคคล Life Settlement Fund ถือเป็นกองทุนแรกของไทย มีขนาดกองทุนราว 2 พันล้านบาท และสร้างรายได้ประมาณ 20% ของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจึงเปิดเสนอขาย “กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมไปจนถึงวันที่ 20 พศจิกายน เพราะมีความซับซ้อน จึงห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย ลงทุน ขั้นตํ่า 5 แสนบาท และไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ในช่วง 3 ปี 1 เดือน (37 เดือน)
“กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ จะลงทุนในกองทุน BlackOak Investors limited partnership-unit class (กองทุนหลัก) ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยทีมบริหารจัดการที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปีในการซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิต”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,624 วันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563