โทเคนดิจิทัล แหล่งระดมทุนใหม่ภาคอสังหาฯ 

18 พ.ย. 2563 | 08:15 น.

“สินทรัพย์ดิจิทัล”แหล่งลงทุนโลกดิจิทัล เอกชนแห่ขอออกโทเคน หลังก.ล.ต.ปรับเกณฑ์อสังหาฯหวังนำเงินลงทุนอาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียม หารายได้ปันผลคืนผู้ถือหุ้น

สกุลเงินดิจิทัลและเทคโนโลยี บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่คาดว่า จะมีขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคต และจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น สะท้อนจากความขัดแย้งของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ไม่เพียงจะก่อ สงครามการค้า เท่านั้น ยังขยายวงสู่ สงครามด้านเทคโนโลยี ทั้งการสั่งแบนเทคโนโลยีของจีนจากสหรัฐ และการที่จีนชิงเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลก่อนสหรัฐฯ ที่บ่งบอกได้ชัดว่า เป้าหมายสูงสุดของจีนก็คือ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางการเงินของโลก ด้วยการผลักดันเงินหยวนดิจิทัลเข้ามาแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐ

 

ประเทศไทยเอง แนวโน้มการใช้ช่องทางการระดมทุน ด้วยการออกเหรียญดิจิทัล หรือ โทเคน กำลังเป็นที่สนใจของภาคธุรกิจอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายเหรียญดิจิทัล หรือ โทเคนดิจิทัล ที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ ให้มีกลไกคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม และเพิ่มความยืดหยุ่นในกรณีที่ smart contract ไม่ครอบคลุมการให้หรือบังคับใช้สิทธิของผู้ลงทุน ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563

 

ทั้งนี้ เพราะมีเอกชนหลายรายสนใจ จะเสนอขายโทเคนดิจิทัล เพื่อนำเงินไปลงทุนในอาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียม จากนั้นนำไปปล่อยเช่าเพื่อหารายได้มาแบ่งปันกันระหว่างผู้ถือ โทเคน ดิจิทัล หรือ real estate-backed ICO ขณะที่หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการเสนอขาย โทเคน ดิจิทัล ยังไม่รองรับการระดมทุนรูปแบบดังกล่าว ประกอบกับการใช้สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ยังไม่ครอบคลุมการให้หรือบังคับใช้สิทธิของผู้ลงทุนในบางเรื่อง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นนอก blockchain และไม่อยู่ภายใต้ smart contract เช่น การเก็บค่าเช่าและการจ่ายส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากค่าเช่า ที่ปัจจุบันยังจ่ายเป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ตามกฎหมาย

 

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การออก real estate-backed ICO ให้มีกลไกคุ้มครองสิทธิผู้ลงทุนที่เหมาะสม คือ ต้องแต่งตั้งทรัสตีเพื่อทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัล โดยให้ทรัสตี ถือครองอสังหาริมทรัพย์ หรือถือหุ้นของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่น้อยกว่า 75% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ SPV  

 

อสังหาริมทรัพย์อ้างอิง ต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมสร้างรายได้ โดยจะต้องลงทุนมากกว่า 80% ของทั้งโครงการนั้น ต้องไม่ใช่การลงทุนเฉพาะหน่วยย่อย เช่น บ้านรายหลัง หรือ คอนโดมิเนียมรายห้อง และมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินจากผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ก.ล.ต.กำหนด 

 

นอกจากนั้น ก.ล.ต.ยังเพิ่มความยืดหยุ่น กรณีที่ smart contract ไม่ครอบคลุมการบังคับใช้สิทธิของผู้ลงทุนตามที่กำหนดในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) และหนังสือชี้ชวน โดยกำหนดให้สามารถใช้กลไกอื่นที่เทียบเท่ามาทดแทนได้ เช่น การจัดทำข้อผูกพันหรือเอกสารที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย และต้องเปิดเผยกลไกทดแทนดังกล่าวในแบบ filing และร่างหนังสือชี้ชวนให้ชัดเจน

 

ทั้งนี้เพราะหลังจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 เพื่อให้อำนาจก.ล.ต.กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและปกป้องนักลงทุน ทำให้ภาพรวมตลาด ICO ซบเซาลง 

โทเคนดิจิทัล แหล่งระดมทุนใหม่ภาคอสังหาฯ 

ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ก.ล.ต.จึงเตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวทางกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เหมาะสม ให้สอดรับกับพัฒนาการธุรกิจและสภาพการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและ พัฒนาการด้านนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศรวมถึงการให้ ความคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม 

 

ก.ล.ต.ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงร่างประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับคือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ระบบการจัดเก็บข้อมูล ระบบการจัดการ การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า และการโฆษณาส่งเสริมการขาย, การรายงานการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า หรือทำหน้าที่ติดต่อชักชวนลูกค้ามาให้ใช้บริการ (introducing broker agent) และการจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนผ่าน “สินทรัพย์ดิจิทัล” ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้น ทำให้ ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับต้องดูแลให้เกิดความเหมาะสม ทั้งการลงทุนและการคุ้มครองต้องควบคู่กันด้วย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อสังหาฯนำร่องออกเหรียญดิจิทัลระดมทุน

PwC แนะอัพสกิลดิจิทัลพนักงานแบงก์-ประกันภัย

บล็อกเชนระดับโลกบุกไทย ช่วยเอสเอ็มอีออกโทเคน

ก.ล.ต.คุมโทเคน ห้ามเสนอขายเกิน 20 ล้านใน1ปี

 

หน้า 14 หนังสือฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,627 วันที่ 15 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563